| |
๓. นิพพานอำนวยผล ที่ยิ่งกว่าลำพังความสำเร็จทางจิตจะให้ได้  |   |  

การบรรลุนิพพาน แม้จะอาศัยความสำเร็จทางจิต (เจโตวิมุตติ) คือ ฌานสมาบัติ เป็นพื้นฐานบ้างไม่มากก็น้อย และผู้บรรลุนิพพานก็มีความเกี่ยวข้องกับความสำเร็จทางจิตนั้นอยู่เรื่อยๆ ในการดำเนินชีวิต แต่นิพพานก็เป็นภาวะต่างหากจากความสำเร็จทางจิตเหล่านั้น เป็นความหลุดพ้นแม้จากความสำเร็จทางจิตเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งต่อเมื่อสามารถก้าวล่วงความสำเร็จทางจิตไปได้

มีข้อควรสังเกตเกี่ยวกับผลพิเศษของการบรรลุนิพพาน คือ

๑) ทำให้เกิดความหลุดพ้นขั้นสุดท้ายที่เด็ดขาด สิ้นเชิง ชนิดที่เป็นธรรมดาธรรมชาติ ไม่ถอยกลับ เช่น ในทางจริยธรรม มีความไม่เห็นแก่ตัวที่แท้จริง ชนิดที่เป็นผลซึ่งเกิดขึ้นเอง เป็นอาการของการที่ได้ทำลายความยึดมั่นในตัวตนลงได้ ด้วยปัญญาที่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งไม่น่า และไม่อาจจะเข้าไปยึดถือผูกพันเอาไว้กับตัวตนได้

ในเมื่อเป็นอาการที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ ความไม่เห็นแก่ตัวนั้น จึงทำได้โดยไม่ต้องฝืน ไม่ต้องบังคับใจ ไม่ต้องอาศัยกำลังจิต ไม่ต้องอาศัยการยึดอันหนึ่งเพื่อปล่อยหรือให้หลุดออกจากอีกอย่างหนึ่ง เช่น ไม่ต้องอาศัยความยึดมั่นในอุดมคติ ความอุทิศตัวให้แก่สิ่งประเสริฐที่ศรัทธาอย่างสุดจิตสุดใจ ความข่มหรือระงับกิเลสด้วยกำลังสมถะหรือวิปัสสนาระหว่างปฏิบัติธรรม และความน้อมดิ่งดื่มด่ำในภาวะแห่งฌานสมาบัติ เป็นต้น

๒) ในการที่จะประจักษ์แจ้งนิพพานนั้น ไม่ว่าผู้ปฏิบัติจะได้บรรลุความสำเร็จทางจิตไว้แล้วสูงเพียงใดก็ตาม เขาจะต้องหลุดพ้นจากความติดใจพอใจในผลสำเร็จทางจิตนั้น มองเห็นสภาวะของผลสำเร็จนั้นตามแนวทางของเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ก้าวล่วงความผูกพันกับผลสำเร็จเหล่านั้นไปได้ก่อน จึงจะบรรลุนิพพานได้

อย่างไรก็ตาม การข้ามพ้นไปได้นั้นแหละ กลับเป็นส่วนเติมเต็มของความสำเร็จทางจิต หรือเป็นความพ้นไปได้ ชนิดที่ช่วยทำให้สมบูรณ์

- ผลสำเร็จทางจิต เท่าใดก็ตาม ที่ตนเคยได้ไว้แล้ว ผู้บรรลุนิพพานสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เช่น ใช้เป็นที่ให้ใจอยู่พักผ่อนอย่างมีความสุขยามว่าง ดังที่เรียกว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหาร เป็นการนำเอาฌานสมาบัติมารับใช้การดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นต้น

- ทำให้ผลสำเร็จทางจิตที่เคยได้ไว้แล้ว ซึ่งตามปกติยังอาจเสื่อมถอยได้ กลายเป็นภาวะไม่เสื่อมถอย

- เพิ่มความสามารถและขยายวิสัยแห่งการเสวยผลสำเร็จทางจิตให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น ถ้าเดิมเคยได้ถึงสมาบัติ ๘ เมื่อบรรลุอนาคามิผลหรืออรหัตตผลแล้ว ก็สามารถก้าวต่อไปถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ

๓) ความสำเร็จทางจิต อาจระงับกิเลสและความทุกข์ไว้ได้เป็นเวลายาวนาน แต่ก็ยังไม่เด็ดขาด กิเลสและความทุกข์กลับฟื้นขึ้นได้ นับว่าเป็นของชั่วคราว เพราะเป็นวิธีข่มหรือทับไว้ หรือฝากฝังใจไว้กับสิ่งอื่น แต่การบรรลุนิพพาน ทำให้กิเลสและความทุกข์นั้นสูญสิ้นไปโดยเด็ดขาด เพราะขุดหรือถอนทิ้งด้วยปัญญา และสิ่งที่ดับไปในการประจักษ์แจ้งนิพพานนั้น ก็เป็นการดับเฉพาะสิ่งที่ชั่วร้าย ได้แก่ตัววุ่นและเหตุให้วุ่นต่างๆ เช่น ดับโลภะ โทสะ โมหะ ดับตัณหา ดับภพ ดับทุกข์ ดับอวิชชา มิได้ดับอะไรที่เป็นสิ่งดีงามเลย

ยิ่งกว่านั้น เมื่อดับสิ่งชั่วร้ายแล้ว ก็กลับมีคุณลักษณะที่ดีเด่นขึ้นมาแทน อย่างชนิดเป็นไปเองตามธรรมดา นอกเหนือจากความสุข คือ การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา และการบำเพ็ญกิจด้วยกรุณา ซึ่งเป็นสิ่งที่ลำพังความสำเร็จทางจิตไม่อาจให้เกิดขึ้นได้


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |