ไปยังหน้า : |
“สติ” แปลกันง่ายๆ ว่า ความระลึกได้ เมื่อแปลอย่างนี้ ทำให้นึกเพ่งความหมายไปในแง่ของความจำ ซึ่งก็เป็นการถูกต้องในด้านหนึ่ง แต่อาจไม่เต็มตามความหมายหลักที่เป็นจุดมุ่งสำคัญก็ได้ เพราะถ้าพูดในแง่ปฏิเสธ สติ นอกจากหมายถึงความไม่ลืม ซึ่งตรงกับความหมายในทางอนุมัติข้างต้น ที่ว่าความระลึกได้แล้ว ยังหมายถึง ความไม่เผลอ ไม่เลินเล่อ ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลื่อนลอยด้วย พูดง่ายๆ ว่า ใจอยู่ ไม่ใจหาย ไม่ใจลอย
ความหมายของสติ ในแง่ปฏิเสธเหล่านี้ เล็งไปถึงความหมายในเชิงอนุมัติว่า ความระมัดระวัง ความตื่นตัวต่อหน้าที่ ความมีใจพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับสิ่งที่ทำ ภาวะที่พร้อมอยู่เสมอในอาการคอยรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และตระหนักว่าควรปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ อย่างไร ซึ่งทำให้เกิดเป็นการดูแล รักษา คุ้มครองไว้ได้
การทำหน้าที่ของสติ มักถูกเปรียบเทียบเหมือนกับนายประตู ที่คอยระวัง เฝ้าดูคนเข้าออกอยู่เสมอ และคอยกำกับการ โดยปล่อยคนที่ควรเข้าออกให้เข้าออกได้ และคอยกันห้ามคนที่ไม่ควรเข้า ไม่ให้เข้าไป คนที่ไม่ควรออก ไม่ให้ออกไป สติจึงเป็นธรรมสำคัญในทางจริยธรรมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นตัวควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นตัวคอยป้องกันยับยั้งตนเอง ทั้งที่จะไม่ให้หลงเพลินไปตามความชั่ว และที่จะไม่ให้ความชั่วเล็ดลอดเข้าไปในจิตใจได้ พูดง่ายๆ ว่า ที่จะเตือนตนในการทำความดี และไม่เปิดโอกาสแก่ความชั่ว
พุทธธรรมเน้นความสำคัญของสติเป็นอย่างมากในการปฏิบัติจริยธรรมทุกขั้น การดำเนินชีวิต หรือการประพฤติปฏิบัติโดยมีสติกำกับอยู่เสมอนั้น มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “อัปปมาท” หรือความไม่ประมาท
อัปปมาทนี้ เป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งสำหรับความก้าวหน้าในระบบจริยธรรม มีความหมายหลักเหมือนเป็นคำจำกัดความว่า การเป็นอยู่โดยไม่ขาดสติ