ไปยังหน้า : |
ธรรม ที่แสดงคุณสมบัติของพระอรหันต์ ในฐานะเป็นภาวิตัตต์ คือบุคคลผู้ได้พัฒนาตนแล้ว ๔ ประการ อันเรียกว่า “ภาวิต” ๔ ด้าน คือ ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต และภาวิตปัญญา นั้น แม้ว่าจะมีพุทธพจน์ตรัสไว้เป็นชุด ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง แต่ไม่พบคำอธิบายพร้อมด้วยกันทั้งชุดในที่เดียวกันเลย พบแต่คำอธิบายเฉพาะบางข้อเมื่อมีกรณีเกี่ยวข้อง เช่น แก้ไขความเข้าใจผิดในข้อที่ยกขึ้นพิจารณาในคราวนั้นๆ อาจเป็นได้ว่า ในพุทธกาล คำเหล่านี้ สำหรับพุทธบริษัท เป็นคำที่ได้ยินได้ฟังรู้เข้าใจกันอยู่เป็นสามัญ จึงไม่มีข้อสะดุดให้ต้องอธิบาย (ข้อที่พบคำอธิบาย มักเป็นการตอบหรือชี้แจงแก่คนภายนอก เช่น แก่เดียรถีย์ปริพาชก)
เฉพาะอย่างยิ่ง “ภาวนา” ๔ ซึ่งเป็นการปฏิบัติของภาวิต คือการพัฒนาที่ทำให้เป็นภาวิต ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎกครบเป็นชุดที่มี ๔ ข้อพร้อมในที่เดียวกันเลย เว้นแต่จะนับอย่างพม่า ที่จัดคัมภีร์เปฏโกปเทสเข้าในพระไตรปิฎกด้วย คือ ในคัมภีร์เปฏโกปเทสนั้น กล่าวว่า “ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมได้แม้ภาวนา ๔ อย่าง คือ ศีลภาวนา กายภาวนา จิตตภาวนา และ ปัญญาภาวนา (เปฏโกปเทสปาฬิ 290, ที่นี่ เรียงศีลภาวนา ไว้หน้าก่อนกายภาวนา)
ในพระไตรปิฎกที่อื่นจากนี้ กล่าวถึงภาวนาไว้อย่างมาก ๓ อย่าง คือ ในสังคีติสูตร เรียงภาวนา ๓ ต่อจากสิกขา ๓ ว่า “สิกขา ๓ ได้แก่ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา. ภาวนา ๓ ได้แก่ กายภาวนา จิตตภาวนา ปัญญาภาวนา” (ที.ปา.11/228/231) และน่าสังเกตด้วยว่า ในพระไตรปิฎก (นอกจากเปฏโกปเทส ที่ว่าแล้ว) ไม่ปรากฏคำว่า “ศีลภาวนา” ในที่ใดเลย ดังนั้น ศีลภาวนาจึงมีแต่ที่แฝงอยู่ในภาวิตศีลเท่านั้น (ไม่พึงสับสนกับคำว่าศีลและภาวนา ในคำว่า ทานศีลภาวนา ซึ่งหมายถึง ทาน และศีล และภาวนา ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ ที่แต่ละอย่างเป็นต่างข้อ แยกต่างหากกัน)
ส่วนในอรรถกถาทั้งหลาย นอกจากยกภาวิตมาแสดงครบทั้ง ๔ แล้ว ท่านกล่าวถึงภาวนา ๔ ไว้ครบทั้งชุดมากหลายแห่ง และอธิบายไว้มากบ้างน้อยบ้าง แต่บางทีคำอธิบายก็ขัดแย้งกัน
สำหรับจิตตภาวนา และปัญญาภาวนา สองอย่างนี้นับว่าไม่เป็นปัญหา ดังที่เป็นคำซึ่งคุ้นๆ กันอยู่แล้ว และความหมายก็คล้ายอย่างที่พบท่านอธิบายและเข้าใจกันอยู่ทั่วไป แต่ที่ขัดแย้งกันบ้าง ไม่ชัดเจน ชวนให้สับสนบ้าง ก็คือความหมายของกายภาวนา และศีลภาวนา (ซึ่งโยงไปที่ภาวิตกาย และภาวิตศีล ทำให้พลอยยุ่งยากกับความหมายของสองคำนี้ไปด้วย)
ยกตัวอย่าง คัมภีร์เปฏโกปเทส (ที่อ้างแล้ว) ดูจะอธิบายต่างจากคัมภีร์ทั้งหลายอื่น และแตกต่างไม่เฉพาะกายภาวนาและศีลภาวนาเท่านั้น แม้จิตตภาวนาและปัญญาภาวนาก็ต่างไปด้วย ขอนำมาให้ดูพอเห็นรูปเค้า ดังนี้ “บรรดาภาวนา ๔ นั้น ด้วยสัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะ กายก็เป็นอันได้พัฒนาแล้ว, ด้วยสัมมาวาจาและสัมมาวายามะ ศีลก็เป็นอันได้พัฒนาแล้ว, ด้วยสัมมาสังกัปปะและสัมมาสมาธิ จิตก็เป็นอันได้พัฒนาแล้ว, ด้วยสัมมาทิฏฐิและสัมมาสติ ปัญญาก็เป็นอันได้พัฒนาแล้ว; ด้วยภาวนา ๔ อย่างนี้ ธรรม ๒ อย่างย่อมถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์ คือ จิตต์ และปัญญา” (จิตต์ คือสมถะ ปัญญา คือวิปัสสนา)
คราวนี้ ขอให้ดูในคัมภีร์เนตติปกรณ์ (ทางพม่าจัดเข้าในพระไตรปิฎกด้วยเช่นกัน) ท่านไม่ได้อธิบายคำว่าภาวนา ๔ แต่อธิบายภาวิต ๔ ซึ่งก็โยงถึงกันเองในตัว จะเห็นว่า ความหมายที่ท่านแสดงจะขัดแย้งกับของเปฏโกปเทส ขอให้ดูคำอธิบายข้างต้นเทียบกับของเนตติปกรณ์ ดังนี้ “บรรดาขันธ์ ๓ นั้น ศีลขันธ์และสมาธิขันธ์ เป็นสมถะ, ปัญญาขันธ์ เป็นวิปัสสนา;... ภิกษุนั้นเป็น ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต ภาวิตปัญญา:. เมื่อพัฒนากาย ธรรม ๒ อย่าง ย่อมถึงการพัฒนา คือ สัมมากัมมันตะและสัมมาวายามะ, เมื่อพัฒนาศีล ธรรม ๒ อย่าง ย่อมถึงการพัฒนา คือ สัมมาวาจาและสัมมาอาชีวะ, เมื่อพัฒนาจิต ธรรม ๒ อย่าง ย่อมถึงการพัฒนา คือ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ, เมื่อพัฒนาปัญญา ธรรม ๒ อย่าง ย่อมถึงการพัฒนา คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ” (เนตฺติปฺปกรณปาฬิ 76) คำอธิบายยังมีต่อไปอีก แต่ขอยกมาให้ดูพอเห็นหลักใหญ่เท่านี้