| |
หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสัมมาอาชีวะ  |   |  

ดังได้กล่าวแล้วว่า อาชีวะเป็นหลักการขั้นศีลที่มักถูกมองข้ามไปเสีย ในที่นี้จึงเห็นควรนำหลักคำสอนเกี่ยวกับอาชีวะมาแสดงไว้พอเป็นแนวทางของความเข้าใจ

ในด้านหลักการทั่วไป เรื่องอาชีวะมีเนื้อหาที่ควรแก่การวิจารณ์ และแสดงเหตุผลเป็นอันมาก เหมาะที่จะแยกออกไปกล่าวเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก ในที่นี้ไม่อาจบรรยายโดยพิสดารได้ จึงเพียงแต่กล่าวเป็นข้อสังเกตไว้

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับหลักทั่วไปในเรื่องอาชีวะ มีดังนี้

๑. พุทธศาสนามองเป้าหมายของอาชีวะ โดยมุ่งเน้นด้านเกณฑ์อย่างต่ำ ที่วัดด้วยความต้องการแห่งชีวิตของคน คือมุ่งให้ทุกคนมีปัจจัย ๔ พอเพียงที่จะเป็นอยู่ เป็นการถือเอาคนเป็นหลัก มิใช่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ความมีวัตถุพรั่งพร้อมบริบูรณ์ ซึ่งเป็นการถือเอาวัตถุเป็นหลัก

ความข้อนี้จะเห็นได้แม้ในหลักธรรมเกี่ยวกับการปกครอง เช่น กำหนดหน้าที่ของพระเจ้าจักรพรรดิข้อหนึ่งว่า เจือจานหรือเพิ่มทรัพย์ให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ 1472 หมายความว่า คอยดูแลไม่ให้มีคนขัดสนยากไร้ในแผ่นดิน พูดอีกอย่างหนึ่ง ความสำเร็จในด้านอาชีวะ หรือเศรษฐกิจของผู้ปกครอง พึงวัดด้วยความไม่มีคนอดอยากยากไร้ มิใช่วัดด้วยการมีทรัพย์เต็มพระคลังหลวง หรือเต็มล้นอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง

เมื่อได้เกณฑ์อย่างต่ำนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่าท่านจะรังเกียจในเรื่องที่จะมีทรัพย์มากน้อยอีกเท่าใด หรือว่าจะมีเท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะเนื่องด้วยปัจจัยอื่นๆ อีก เช่นในข้อ ๒ ที่จะกล่าวต่อไป

๒. ความมีปัจจัย ๔ พอแก่ความต้องการของชีวิต หรือแม้มีวัตถุพรั่งพร้อมบริบูรณ์ก็ตาม มิใช่เป็นจุดหมายในตัวของมันเอง เพราะเป็นเพียงขั้นศีล เป็นเพียงวิธีการขั้นตอนหนึ่งสำหรับช่วยให้ก้าวต่อไปสู่จุดหมายที่สูงกว่า คือเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาคุณภาพจิตและพัฒนาปัญญา เพื่อความมีชีวิตดีงามและการประสบสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป

คนบางคนมีความต้องการวัตถุเพียงเท่าที่พอเป็นอยู่ แล้วก็สามารถหันไปมุ่งเน้นด้านการพัฒนาคุณภาพจิตและปัญญา แต่บางคนยังไม่พร้อม ชีวิตของเขายังต้องขึ้นต่อวัตถุมากกว่า เมื่อการเป็นอยู่ของเขาไม่เป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่น ก็ยังเป็นที่ยอมรับได้

นอกจากนั้น บางคนมีความโน้มเอียง ความถนัด และความสามารถในการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นได้ดี การมีทรัพย์มากมายของเขา ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์

๓. คำว่า “สัมมาชีพ” ในทางธรรม มิใช่หมายเพียงการใช้แรงงานให้เกิดผลผลิต แล้วได้รับปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพเป็นผลตอบแทนมาโดยชอบธรรมเท่านั้น แต่หมายถึงการทำหน้าที่ ความประพฤติ หรือการดำรงตนอย่างถูกต้องอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ทำให้เป็นผู้สมควรแก่การได้ปัจจัยบำรุงเลี้ยงชีวิตด้วย เช่น การที่พระภิกษุดำรงตนอยู่ในสมณธรรมแล้วได้รับปัจจัย ๔ ที่ชาวบ้านถวาย ก็เป็นสัมมาชีพของพระภิกษุ หรือการที่ลูกประพฤติตนเป็นลูกที่ดี สมควรแก่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ก็พึงนับเป็นสัมมาชีพของลูก

อนึ่ง ในการวัดคุณค่าของแรงงาน แทนที่จะวัดเพียงด้วยการได้ผลผลิตเกิดขึ้นสนองความต้องการของมนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นความต้องการด้วยตัณหา หรือความต้องการของชีวิตแท้จริง ก็ยังไม่แน่ ทางธรรมกลับมองที่ผลอันเกื้อกูล หรือไม่เกื้อกูล แก่ชีวิต แก่สังคม หรือการดำรงอยู่ด้วยดีของหมู่มนุษย์


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |