| |
พัฒนาคนได้ ด้วยการพัฒนาความต้องการของเขา  |   |  

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เท่ากับเป็นการเสนอหลักการอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาว่า คนเรานี้ โดยธรรมชาติ ย่อมมีแรงจูงใจ ทั้งฝ่ายดี และฝ่ายชั่ว ซึ่งพร้อมที่จะนำออกมาใช้ได้

การกระทำที่ดีงาม กิจกรรมทุกอย่างที่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ ตลอดจนการบรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา จะต้องอาศัยแรงจูงใจฝ่ายดี ที่เรียกว่าฉันทะ ทำนองเดียวกับที่การกระทำความชั่ว และกิจกรรมที่ก่อปัญหาสร้างความทุกข์ทุกอย่าง ย่อมถูกกระตุ้นด้วยตัณหา ที่มีอวิชชาเป็นมูลราก

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของกระบวนการฝึกอบรมสั่งสอนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่า การศึกษา การปฏิบัติธรรม หรือชื่ออื่นใดก็ตาม ที่จะต้องช่วยให้บุคคลปลุกฟื้นความต้องการที่เรียกว่าฉันทะ ขึ้นมาเป็นพลังชักจูงการกระทำ และนำชีวิตไปสู่จุดหมายที่ดีงาม ซึ่งอำนวยประโยชน์สุขที่แท้จริง ทั้งแก่ชีวิตเอง และแก่โลกที่แวดล้อมอยู่

ถ้าสร้างฉันทะ คือความรักธรรม หรือความใฝ่ดีนี้ ขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับตัณหา ที่อยากได้อยากปรนเปรอตนเองนั้นไม่สำเร็จ ก็หวังได้ยากนัก ที่จะแก้ไขขจัดปัญหาความชั่วร้ายนานาในสังคมปัจจุบัน หรือจะทำงานพัฒนาที่ดีให้เป็นผล เพราะใจคนพร้อมที่จะไหลไปตามตัณหาอยู่แล้ว การจะใช้แต่พลังฝ่ายลบมาหักห้าม เช่น บอกว่า อย่าทำผิดศีล อย่าละเมิดระเบียบ เป็นต้น หาเพียงพอไม่ เพราะแม้แต่การรักษาศีลนั้นเอง ขาดฉันทะเสียแล้ว ก็แทบจะทำไม่ไหว

ฉันทะที่เป็นพลังฝ่ายบวกด้วยกัน แต่เป็นปฏิปักษ์กันกับตัณหานี่แหละ จะเป็นตัวยับยั้ง ข่มและปราบตัณหาที่ได้ผล เป็นกุญแจที่จะไขความสำเร็จในการแก้ปัญหาความชั่วร้ายทั้งหลาย และช่วยให้ก้าวหน้าไปในกุศลธรรมได้สำเร็จ

ถ้าเด็กรักความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ก็ยากนักที่เขาจะตามใจตัณหายอมทิ้งขว้างเศษของลงอย่างมักง่าย ถ้าเขาทำอะไรเปรอะเปื้อน ก็ยากนักที่เขาจะยอมปล่อยให้ที่นั้นเลอะเทอะอยู่ต่อไป หรือแม้แต่คนอื่นมาทำเปื้อนเปรอะไว้ ก็ยากที่เขาจะต้องรอสัญญาให้ได้รางวัลก่อนจึงจะทำความสะอาด

ฉันทะอาจกลายเป็นปัจจัย ซึ่งทำให้คนดีมีความทุกข์ได้ ถ้าเขายังเป็นปุถุชนที่ยอมให้ความยึดติดถือมั่น ครอบงำจิตใจ และอาจให้เขาก่อการรุนแรงเสียหายขึ้นก็ได้ ถ้าเขายังมีสติปัญญาไม่เพียงพอ และตกอยู่ใต้อำนาจของความยึดมั่น แต่ฉันทะเป็นพลังสำคัญที่จะให้เริ่มก้าวหน้าไปได้ในกุศลธรรม จึงจำเป็นจะต้องปลุกฟื้นขึ้นอย่างรู้เท่าทัน ส่วนโทษทั้งสองแง่ ที่เกิดจากความเป็นปุถุชนนั้น มีทางหลีกเลี่ยง และแก้ไขได้ ดังจะศึกษากันต่อๆ ไป

ถ้าธรรมฉันทะ หรือกุศลฉันทะมีกำลังแรงกล้า ก็ย่อมข่มกำลังตัณหาได้

ในทางร้าย ความริษยา ทำให้เห็นคนอื่นได้ดี ทนอยู่ (ที่จะไม่กีดกันหรือทำร้าย) ไม่ได้ ฉันใด ในฝ่ายดี ด้วยกุศลฉันทะ ถ้ายังไม่บรรลุความดีงามสูงสุด ก็ทนหยุดนิ่งเฉย (ที่จะไม่ทำให้ดี) ไม่ได้ ฉันนั้น

เมื่อฉันทะมีกำลังแรงกว่าตัณหา:

นักเรียนนักศึกษา ทั้งที่ว่าตนค้นคว้าเขียนคำตอบเพียงครึ่งแรงก็พอที่จะสอบผ่านได้คะแนนดี แต่กลับเพียรขวนขวายให้เข้าถึงความรู้จริงแท้ หรือรวบรวมความรู้ให้ได้มากจนสุดกำลัง

พ่อค้า ทั้งที่ผลิตของออกจำหน่ายอย่างนี้ ก็พอที่จะบังตาลูกค้าให้ถูกใจขายได้กำไรดี แต่กลับพยายามทำสินค้าของตนให้ดีด้วยคุณภาพแท้จริง

ข้าราชการหรือคนทำงาน ทั้งที่ทำงานเรื่อยๆ ก็พอที่จะได้เงินเดือนหรือค่าตอบแทนอย่างสบาย แต่กลับมุ่งหน้าทำงานให้สัมฤทธิ์ผลอย่างดีที่สุดแห่งหน้าที่ของตน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |