ไปยังหน้า : |
ก. ขั้นดีเลิศ ได้แก่ การได้เสวยความสุขอิสระภายใน ที่เป็นสุขแท้ สุขไท อันประณีต ซึ่งมีความเต็มอิ่มสมบูรณ์ในตัวแล้ว โดยที่จิตของผู้นั้นหลุดพ้นจากความใฝ่ปรารถนาต่อกามสุข ไม่โน้มมา หรือไม่วกเวียนมาหากามสุขนั้น อย่างเป็นไปเองโดยธรรมดา บุคคลเช่นนี้ ย่อมหลุดพ้นจากปัญหาที่จะเกิดจากกามไปได้โดยสิ้นเชิง
ข. ขั้นดี ได้แก่ การละกามสุข ของผู้หวังจะได้ และกำลังฝึกเพื่อจะได้ความสุขอย่างประณีต การละกามสุขในกรณีนี้จะเป็นสิ่งสมควร ต่อเมื่อบุคคลนั้นเบื่อหน่ายกามสุขแล้ว มีความพร้อมที่จะฝึกตนเพื่อเข้าถึงความสุขอย่างประณีตต่อไป หรือแม้ยังไม่พร้อมในแง่ของความเบื่อหน่ายอย่างนั้น แต่ได้มองเห็นหยั่งทราบถึงโทษของกาม และเล็งเห็นคุณของสุขอิสระที่ประณีตกว่า พร้อมทั้งมีความหวังว่าจะได้ความสุขประณีตนั้น และสมัครใจที่จะฝึกตน การสมัครใจและรู้ตัวว่ากำลังฝึกตน จะป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียเนื่องด้วยการกักกดหรือฝืน
แต่เมื่อใดไม่ต้องการจะฝึก หรือหมดกำลังศรัทธาที่จะฝึกเสียแล้วอย่างแน่นอน ก็พึงยอมรับความพ่ายแพ้ และเลิกการฝึกได้ เช่น ถ้าบวชเป็นภิกษุ ก็ลาสิกขาเสียโดยสมัครใจ
สำหรับผู้ทำเช่นนี้โดยสุจริตใจ แม้แต่การสึกๆ บวชๆ ซึ่งตามปกติมิใช่เป็นวิธีการที่ท่านสนับสนุนเลย ก็เป็นเครื่องช่วยทำให้เกิดความพร้อม จัดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฝึกได้ด้วย เช่น พระจิตตหัตถสารีบุตร ที่บวชและสึกถึง ๗ ครั้งแล้ว ในที่สุดได้บรรลุอรหัตตผล 2156 เป็นต้น
ค. ขั้นทราม ได้แก่ การละกามสุข เนื่องจากปฏิกิริยาต่อกาม แล้วแล่นไปสุดทางตรงข้าม ประพฤติพรตเข้มงวดบีบคั้นตนเอง ระบายความเกลียดชังกาม โดยเอากายตนหรือชีวิตเป็นเป้า ระดมทุกข์เข้าทับถมตน การบีบคั้นตนเช่นนี้ หรือการกักกด โดยขาดความหมายของความเข้าใจและการฝึกฝนที่กล่าวในข้อ ๒ ข. ย่อมกลายเป็นการเบียดเบียนตน และกลายเป็นปัญหาทางจิตอีกอย่างหนึ่ง