| |
ความสุขมีคุณมาก โทษก็หนัก ต้องรู้จักใช้  |   |  

คราวนี้ก็มาถึงเรื่องคุณและโทษของความสุข บอกแล้วว่า สิ่งทั้งหลายนั้น โดยทั่วไปพระพุทธเจ้าจะตรัส ทั้งในแง่ว่ามีคุณอย่างไร มีโทษอย่างไร และในเมื่อยังมีคุณมีโทษอยู่อย่างนี้ มีจุดไหนที่ไหนที่จะพ้นไปได้จากข้อดีข้อด้อยเหล่านั้น ก็คือพัฒนาต่อไปนั่นเอง

วิธีมองสิ่งทั้งหลายอย่างที่ตรัสนี้ จะทำให้มีการพัฒนาต่อไปเรื่อย พอไปถึงจุดหนึ่ง เราก็ยอมรับว่าอันนี้มีข้อดีอย่างนี้ แต่ยังมีข้อด้อยข้อเสียอย่างนั้น แล้วทางออกอยู่ไหน ก็พัฒนาต่อไป พอไปถึงตรงนั้น ก็ดูข้อดีอันนั้นข้อด้อยอันนี้ แล้วที่ไหนจะพ้นไปได้ ก็ไปต่อ

พูดตามภาษาหลัก ก็บอกว่า เป็นวิธีการพัฒนาโดยรู้ข้อดี ข้อด้อย และทางออก คือ รู้อัสสาทะ อาทีนวะ และนิสสรณะ ๓ อย่างนี้ไปเรื่อย แล้วก็เดินหน้าไปเรื่อย จะทำงานทำการอะไร ก็คอยดูชุด ๓ นี้ไว้ ก็จะมีการพัฒนาเรื่อยไป อย่ามัวเพลินนึกว่าอะไรๆ ก็สมบูรณ์แล้ว ก็เลยหยุด เฉย ละเลย ประมาท ก็จะเสียการ

ทีนี้ก็มาดูกันต่อไปในเรื่องคุณและโทษของความสุข แต่ในที่นี้ มิใช่โอกาสที่จะพูดลึกลงไปถึงรายละเอียด ว่า สุขแต่ละอย่าง แต่ละประเภท แต่ละขั้น มีคุณ มีโทษ มีข้อดี ข้อเสีย จุดเด่น จุดด้อย และที่ดีที่พ้นไปอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาแยกแยะออกไป จึงจะพูดถึงจุดใหญ่หรือจุดสำคัญที่โยงไปถึงเรื่องอื่นๆ ได้กว้างขวาง และเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปค่อนข้างชัดเจน

ในระดับหนึ่งที่นับว่าสำคัญ พูดได้ว่าเกี่ยวข้องกับคนทั่วไป โยงไปถึงเรื่องการพัฒนาชีวิต การปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา หรือการศึกษาทั้งหมด ก็คือเรื่องสมาธิ

ในเรื่องนี้ ความสุข มีคุณ เป็นข้อดีที่เด่นเห็นชัด ว่าตามคำบาลี ก็คือ “สุขปทฏฺาโน สมาธิ” แปลว่า สมาธิมีสุขเป็นบรรทัดฐาน ก็คือสุขนี้เป็นบรรทัดฐาน เป็นเหตุใกล้ของสมาธิ

“สุข” แปลว่าคล่อง แปลว่าสะดวก แปลว่าง่าย คือ ไม่มีอะไรบีบคั้น ไม่ติดขัด ไม่ถูกกดดัน ก็ไม่ต้องดิ้นรน ไม่พลุ่งพล่าน ไม่กระวนกระวาย ก็สงบ พอสุขก็สงบ พอสงบ สมาธิก็มาง่าย มาได้เลย พร้อมอยู่แล้วที่จะเป็นสมาธิ

เพราะฉะนั้น สมาธิจึงอาศัยสุขเป็นที่ตั้ง ก็เลยพูดเป็นหลักไว้ให้รู้กันว่า สุขปทัฏฐาโน สมาธิ แปลว่า สมาธิมีสุขเป็นบรรทัดฐาน ได้แค่นี้ก็ชัดแล้วว่า ความสุขนี้มีคุณมาก

แล้วสุขก็เป็นอาการของชีวิตที่มีคุณภาพ อย่างพระอรหันต์เวลาว่าง ไม่มีกิจที่ต้องทำ ท่านก็พักอยู่ด้วยภาวะจิตที่เป็นสุขในเวลาปัจจุบัน เรียกว่าทิฏฐธรรมสุขวิหาร ซึ่งตามปกติก็มักอยู่ด้วยฌาน ถึงไม่มีอะไรทำที่จะเป็นสุข ก็อยู่อย่างเป็นสุขตลอดเวลาในวาระนั้นๆ อันนี้ก็ไม่จำเป็นต้องพูดมากนัก

ส่วนในด้านโทษ ก็ต้องพูดว่า โทษของสุขมีไม่น้อย ข้อที่สำคัญก็คือ สุขนั้นชวนให้ประมาท ทำให้มัวเมา ลุ่มหลง เพลิน ผัดเพี้ยน เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |