| |
ข. ความหมายของกรรม  |   |  

“กรรม” แปลตามศัพท์ว่า การงาน หรือการกระทำ แต่ในทางธรรมต้องจำกัดความจำเพาะลงไปว่า หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือการกระทำที่เป็นไปด้วยความจงใจ403 ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรมในความหมายทางธรรม

อย่างไรก็ตาม ความหมายที่กล่าวมานี้ เป็นความหมายอย่างกลางๆ พอคลุมความได้กว้างๆ เท่านั้น ถ้าจะให้ชัดเจนมองเห็นเนื้อหาและขอบเขตแจ่มแจ้ง ควรพิจารณาการแยกแยะความหมายออกเป็นแง่หรือเป็นระดับต่างๆ ดังนี้

ก. เมื่อมองให้ถึงตัวแท้จริงของกรรม หรือมองให้ถึงต้นตอ เป็นการมองตรงตัวหรือเฉพาะตัวกรรมก็คือ“เจตนา” อันได้แก่เจตจำนง ความจงใจ การเลือกคัดตัดสิน มุ่งหมายที่จะกระทำ หรือพลังนำที่เป็นตัวกระทำนั่นเอง เจตนาหรือเจตจำนงนี้เป็นตัวนำ บ่งชี้ความมุ่งหมาย และกำหนดทิศทางแห่งการกระทำทั้งหมดของมนุษย์ เป็นตัวการหรือเป็นแกนนำในการริเริ่ม ปรุงแต่ง สร้างสรรค์ทุกอย่าง จึงเป็นตัวแท้ของกรรมดังพุทธพจน์ที่ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํวทามิ” เป็นต้น แปลความว่า ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นเอง เราเรียกว่ากรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ404

ข. มองขยายออกไปให้เห็นตัวการอื่นๆ คือมองเข้าไปที่ภายในกระบวนการแห่งชีวิตของบุคคลแต่ละคนจะเห็นกรรมในแง่ตัวประกอบซึ่งมีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการแห่งชีวิต เป็นเจ้าหน้าที่ในการปรุงแต่งโครงสร้างและวิถีที่จะดำเนินไปของชีวิตนั้น กรรมในแง่นี้ตรงกับคำว่า “สังขาร” หรือมักเรียกชื่อว่า สังขาร เช่นอย่างที่เป็นหัวข้อหนึ่งในปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแปลกันว่า สภาพที่ปรุงแต่งจิต หมายความว่า องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่ว หรือให้เป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา เป็นกรรมแบบต่างๆ ถ้าจะแปลง่ายๆ ก็ว่าความคิดปรุงแต่ง แม้ในความหมายแง่นี้ก็ยึดเอาเจตนานั่นเองเป็นหลัก บางครั้งท่านก็แปลเอาง่ายๆ รวบรัดว่า สังขารก็คือเจตนาทั้งหลายนั่นเอง405

ค. มองเลยออกมาข้างนอกเล็กน้อย คือมองในแง่ของชีวิตที่สำเร็จรูปแล้วเป็นหน่วยหนึ่งๆ หรือมองชีวิตที่ด้านนอกอย่างเป็นหน่วยรวมหน่วยหนึ่งๆ ตามที่สมมติเรียกกันว่า บุคคลผู้หนึ่งๆ ซึ่งดำเนินชีวิตอยู่ในโลก เป็นเจ้าของบทบาทของตนๆ ต่างหากๆ กันไป กรรมในแง่นี้ก็คือ การทำ การพูด การคิด หรือการคิดนึก และการแสดงออกทางกายวาจา หรือความประพฤติที่เป็นไปต่างๆ ซึ่งบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดชอบเก็บเกี่ยวผลเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะมองแคบๆ เฉพาะเวลาเฉพาะหน้า หรือมองกว้างไกลออกไปในอดีตและอนาคตก็ตาม

กรรมในความหมายนี้ เข้ากับความหมายกว้างๆ ที่แสดงไว้ข้างต้น และเป็นแง่ความหมายที่กล่าวถึงบ่อยที่สุด เพราะปรากฏในคำสอนต่อบุคคล มุ่งให้ทุกคนรับผิดชอบต่อการกระทำของตนและพยายามประกอบแต่กรรมดี เช่นในพุทธพจน์ว่า


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง