| |
เมื่อใฝ่ร้าย กับใฝ่ดี แทรกซ้อนชิงกัน

อาจมีผู้แย้งขึ้นมาในตอนนี้ว่า ความอยากมีสุขภาพดี น่าจะเป็นตัณหา เพราะคนอาจจะอยากมีสุขภาพดี แข็งแรง เพื่อจะได้สามารถเสพสุขเวทนาได้อย่างเต็มที่ คำแย้งนี้เกิดจากความคิดแบบตีคลุม ไม่ถูกหลักวิภัชชวาท หรือหลักพุทธศาสนาที่ว่า ให้แยกแยะองค์ประกอบ เหตุผล ปัจจัยต่างๆ ออกไปวินิจฉัยเป็นอย่างๆ ให้ชัด จึงจะได้ความจริงแน่แท้ ไม่ใช่เอาขั้นตอน ปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ เข้ามาปะปนสับสนกัน แล้ววินิจฉัยตีคลุมลงไป

ในกรณีนี้ ความมีสุขภาพ ไร้โรค อยู่สบาย เป็นธรรม เป็นภาวะดีงามเกื้อกูลอยู่ในตัวของมัน ตัดตอนขาดไปได้ ส่วนใครจะเอาความมีสุขภาพไปใช้เพื่ออะไร ก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง2050 เขาอาจจะต้องการมีสุขภาพ มีร่างกายดี เพื่อจะใช้บำเพ็ญประโยชน์ หรือเพื่อปฏิบัติธรรมกำจัดกิเลสก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมุ่งเพื่อเอาไปใช้เสพเสวยสุขเวทนาเสมอไป และนั่นก็คือ ต้องตัดเป็นอีกช่วงตอนหนึ่ง

ความจริง ความคิดของคนทั่วไปที่สำเร็จออกมาครั้งหนึ่งๆ มักจะมีองค์ประกอบหรือปัจจัยต่างๆ ผสมซ้อนกันอยู่ ซึ่งจะต้องแยกแยะออกไปเสมอ บางทีก็ซับซ้อน ต้องซอยละเอียดยิ่งไปกว่าที่กล่าวมาเสียอีก

บางคนอาจคิดว่า เรากินแต่พอดี จะได้เป็นคนแข็งแรงสวยงาม หรือว่าจะได้เป็นคนมีสุขภาพดี ความคิดอย่างนี้อาจซอยได้เป็น ๓ ตอน คือ รู้คิดว่า ผลที่พึงประสงค์ของการกิน คือความมีสุขภาพหรือร่างกายแข็งแรง หรือรู้ว่ากินเพื่อสุขภาพ ให้ร่างกายคล่องสบาย ตอนหนึ่ง เกิดความพอใจ หรือต้องการความมีสุขภาพ ความคล่องสบายของร่างกาย ที่เป็นภาวะเกื้อกูลนั้นอย่างบริสุทธิ์ล้วนๆ ตอนหนึ่ง อยากให้ความมีสุขภาพหรือความแข็งแรง เป็นของฉัน หรือให้ตัวฉันเป็นเจ้าของความมีสุขภาพหรือความแข็งแรง หรืออยากให้ตัวฉันได้ชื่อว่าเป็นคนแข็งแรงมีสุขภาพดี หรือว่าฉันจะได้เป็นคนสวยงาม อีกตอนหนึ่ง

อาจคิดซ้อนต่อไปอีกด้วยซ้ำว่า ฉันจะมีสุขภาพดี ฉันจะแข็งแรงกว่าเขา ฉันจะสวยงามกว่าคนนั้นคนนี้ เป็นต้น

จะเห็นว่า ในความคิดเช่นนี้ มีทั้งฉันทะและตัณหา เกิดต่อซ้อนกันอยู่ โดยฉันทะเกิดแล้ว ตัณหาเกิดตาม จัดเข้าในหลักว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ และเมื่อกระบวนความคิดเดินมาถึงขั้นเกิดมีตัวตนเจ้าของตัณหาขึ้นแล้ว ก็เป็นอันได้เริ่มต้นเพาะเชื้อสำหรับการก่อตัวของทุกข์และปมปัญหาต่างๆ ไว้สืบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ข้อที่ว่านี้ เป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับการทำความดีของปุถุชนทั้งหลาย ที่จะยังมีตัณหาคอยเข้ามาแทรกซ้อนอยู่ด้วยเสมอ และจึงยังเป็นความดีที่สั่งสมทุกข์หรือก่อทุกข์ได้ ข้อที่จะพึงปฏิบัติในกรณีเช่นนี้ก็คือ พยายามใช้โยนิโสมนสิการ ตั้งสติสัมปชัญญะ และปลูกฝังฉันทะไว้คอยตัดทางหรือตัดหน้าอวิชชาตัณหาอยู่เสมอๆ และพยายามไม่ให้ตัณหาเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากฉันทะต่อไปได้ หรือเมื่อมีอันเป็นไปว่าตัณหาเกิดขึ้นแล้ว ก็พยายามหันเหทิศทาง หักให้ตัณหากลับเป็นปัจจัยแก่ฉันทะตามหลักอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้อีก ทำได้เพียงเท่านี้ ก็นับว่าเป็นปุถุชนขั้นดีมากแล้ว และเรื่องนี้ยังจะได้พูดกันต่อไปอีก


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |