| |
สองทางสายใหญ่ ที่จะเลือกไปสู่ความสุข  |   |  

เรื่องความต้องการนี้สำคัญมาก ถึงแม้ตั้งหลักไว้ให้เห็นกันแล้ว ก็ยังมีแง่มุมปลีกย่อยที่ควรพูดเพิ่มเติมอีก ให้เกิดความคุ้นเคยไว้

อย่างง่ายๆ ตามปกติ คนทั่วไป ก็มีทั้งฉันทะ และตัณหา เป็นต้นทุนอยู่ด้วยกัน ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า คนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสังคม หรือผู้อยู่ในฐานะที่ควรเป็นกัลยาณมิตร จะต้องเข้าใจหลักความต้องการนี้ และรู้จักส่งเสริมความต้องการฝ่ายฉันทะขึ้นไป พร้อมกับรู้จักคุมและขัดเกลาความต้องการฝ่ายตัณหา อย่างน้อยให้เป็นกระแสรองอยู่เรื่อยไป

ด้านฉันทะที่เป็นทุน ก็เช่นว่า คนทั่วไป อยู่ไหนไปไหน ก็อยากเห็นสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดตา เมื่อได้สัมผัสธรรมชาติที่งดงามรื่นรมย์ ก็ชื่นชมสบายใจ มีความสุข และอยากให้สิ่งทั้งหลายโดยรอบอยู่ในสภาวะที่ดีงามสมบูรณ์อย่างนั้น อยากให้ผู้คน สัตว์ ต้นไม้ แม้กระทั่งหญ้า ขึ้นไปถึงท้องฟ้า สดชื่น งาม น่าอิ่มตาอิ่มใจ

แม้แต่ร่างกายแขนขาหน้าตาของตน ก็อยากให้แข็งแรงสะอาดหมดจดสดใส อยู่ในภาวะที่ดีงามสมบูรณ์ของมัน (ตรงนี้เป็นจุดสังเกต ที่ใช้ได้ดี ในการฝึกแยกฉันทะกับตัณหา)

พร้อมกันนั้น อีกด้านหนึ่ง คนทั่วไปก็ต้องการสนองความต้องการทางผัสสะของตน ต้องการเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสกาย ที่เป็นอารมณ์อันน่าพอใจ ที่ชอบใจ ที่ท่านใช้คำรวมๆ เรียกว่า อามิส บ้าง ว่า กาม บ้าง

เนื่องจากพวกกามอามิสนี้ มีสัมผัสที่หยาบ มีการกระตุ้นเร้าที่แรง จึงมีกำลังล่อเร้าชักพาไปได้มาก ความรู้เท่าทันที่จะไม่หลงตามเหยื่อล่อจึงต้องได้รับการย้ำเน้น

ทีนี้ มาดูความอยาก ๒ อย่างนั้นเทียบกัน ให้เห็นความหมายชัดขึ้นไปอีก

บอกแล้วว่า ความอยากอย่างที่ ๒ ที่เป็นกุศล คือฉันทะนั้น เริ่มอย่างง่ายๆ ด้วยความรู้สึกชื่นชมยินดีพอใจ ในความดีความงามความสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ

ทีนี้ เมื่อมีความพอใจ มีความต้องการที่จะได้รับความพอใจอย่างนั้น แต่ถ้าสิ่งนั้นๆ ตลอดจนคนนั้นๆ ยังไม่มีความดีงามสมบูรณ์ หรือมี แต่ยังไม่เต็มที่ ก็แล้วแต่ ก็อยากให้มันดี อยากให้มันงาม อยากให้มันสมบูรณ์

เมื่ออยากให้มันดีงามสมบูรณ์ แต่มันยังไม่เป็นเช่นนั้น จะต่อไปอย่างไร นี่ก็คือมาถึงขั้นที่อยากทำสิ่งนั้นๆ ให้มันดีงามสมบูรณ์ ตรงนี้แหละที่จะได้เจอตัวฉันทะจริงๆ ที่ท่านเรียกว่า “กัตตุกัมยตาฉันทะ” (ฉันทะคือความอยากทำ)

พอพูดมาถึงตรงนี้ ก็คงมองเห็นแนวทางของการที่จะพัฒนาความต้องการที่เป็นฉันทะนั้นต่อไป

ทีนี้ เพื่อเทียบกันต่อไป ก็หันมาดูความอยากประเภทตัณหา ที่เป็นอกุศล คือความพอใจใคร่อยากในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสกาย ที่มาสนองความต้องการในการเสพ อันนี้เรียกง่ายๆ ว่า ความอยากเสพ พออยากเสพขึ้นมา มันก็คือการอยากได้อยากเอาเพื่อตัวเรา ตรงนี้ข้อแตกต่างอย่างพิเศษก็โผล่ออกมา

อะไรที่โผล่ขึ้นมาตอนนี้ นั่นก็คือ พอความอยากแบบนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีตัวเจ้าของเรื่องขึ้นมา คือมีตัวที่จะเป็นผู้ได้ผู้เอาผู้เสพ แม้แต่เป็นผู้อยาก มีตัวผู้อยาก ตัวผู้ได้ ตัวผู้เสพ ชัดขึ้นมาเลย คืออยากได้อยากเอามาให้แก่ตัว เพื่อตัวจะได้เสพ นี่คือจุดกำเนิดของ “ตัวตน”


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |