| |
“ฉันทะ” คือคำหลัก ที่ต้องแยกแยะความหมาย ให้หายสับสนทางภาษา

ได้ชี้แจงทำความเข้าใจแล้วว่า ความเข้าใจพร่ามัวสับสนต่อความหมายของความอยาก ที่มองกันแคบๆ โดยเอาความอยากเป็นตัณหาไปหมดนั้น เป็นความผิดพลาด เนื่องจากปัญหาทางภาษา เกี่ยวกับความหมายของถ้อยคำภาษาบาลี ที่นำมาใช้ในภาษาไทย และรู้เข้าใจกันไม่เพียงพอ

ทีนี้ ดูในภาษาบาลีบ้าง คำบาลีที่มีความหมายว่าเป็นความอยาก ก็มีหลายคำ และบางคำก็มีความซับซ้อนทั้งในด้านความหมาย และในการใช้พูดใช้เขียน พูดได้ว่าชวนให้สับสนมาก จึงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจกันให้ดี

เบื้องแรก ขอนำคำสำคัญที่ซับซ้อนมาตั้งให้ดู แล้วสะสางให้คลายสงสัยไปตามลำดับ เมื่อเข้าใจหายสับสนในคำสำคัญที่ซับซ้อนนี้แล้ว ก็จะเข้าใจได้ดีโล่งตลอด ขอย้ำว่า ให้ค่อยๆ แยกแยะ ทำความเข้าใจไปตามขั้นตอน จนกว่าจะได้หลักที่ชัดเจน

คำศัพท์ธรรมในกรณีนี้ ที่น่าศึกษา ซึ่งมีการใช้ทั้งในแง่ที่เป็นคำกลางสำหรับความอยาก มีความหมายพื้นฐานกว้างที่สุด ครอบคลุมความอยากในแง่ต่างๆ ได้ทั้งหมด และในแง่ที่เป็นคำหลัก ซึ่งมีความหมายเฉพาะทางด้านกุศล เป็นฝ่ายดี ได้แก่ “ฉันทะ

ฉันทะ โดยทั่วไปแปลกันว่า ความพอใจ แต่ที่จริงแปลได้มากมายหลายอย่าง เช่นว่า ความยินดี ความพอใจ ความชอบ ความชื่นชม ความอยาก ความปรารถนา ความต้องการ ความใฝ่ ความรัก ความใคร่

เพื่อความสะดวก ในที่นี้ ขอใช้คำแปลคำเดียวเป็นคำกลางไว้ก่อนว่า “ความอยาก”

เมื่อประมวลความตามที่พระอรรถกถาจารย์จัดแยกไว้ จำแนกได้ว่า ฉันทะมี ๓ ประเภท คือ 1994

๑. ตัณหาฉันทะ ฉันทะคือตัณหา หรือฉันทะที่เป็นตัณหา เป็นฝ่ายชั่ว หรืออกุศล

๒. กัตตุกัมยตาฉันทะ ฉันทะคือความใคร่เพื่อจะทำ ได้แก่ ความต้องการทำ หรืออยากทำ บางทีถือเป็นคำกลางๆ เข้าได้ทั้งกุศลและอกุศล แต่ในที่ทั่วไป ท่านใช้ในความหมายที่เป็นกุศล เป็นฝ่ายดี

๓. กุศลธรรมฉันทะ ฉันทะในกุศลธรรม หรือธรรมฉันทะที่เป็นกุศล เป็นฝ่ายดีงามหรือกุศล มักเรียกสั้นๆ เพียงว่า กุศลฉันทะ (ความรักดี ความใฝ่ดี) หรือธรรมฉันทะ (ความรักธรรม หรือความใฝ่ธรรม)

ข้อที่ ๑ ฉันทะที่เป็นตัณหาฉันทะ1995 นั้น ท่านใช้เป็นไวพจน์คำหนึ่งของตัณหา เช่นเดียวกับราคะ และโลภะ เป็นต้น1996 ฉันทะประเภทนี้ ในบาลีมีใช้มากมาย ที่คุ้นตากันมาก คือในคำว่า “กามฉันทะ” ซึ่งเป็นข้อแรกในนิวรณ์ ๕ กามฉันทะนี้ ท่านว่าได้แก่กามตัณหานั่นเอง 1997


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |