ไปยังหน้า : |
ก) ขอบเขตความหมาย
ขอทวนความก่อนว่า อนัตตตา คือความเป็นอนัตตา มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมมากกว่าความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์ ขอบเขตนั้นกว้างแคบกว่ากันแค่ไหน เห็นได้ชัดเจนทันทีในพุทธพจน์ที่แสดงหลักนั้นเอง คือ
๑. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา - สังขาร ทั้งปวง ไม่เที่ยง
๒. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา - สังขาร ทั้งปวง เป็นทุกข์
๓. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา - ธรรม ทั้งปวง เป็นอนัตตา
พุทธพจน์แสดงหลักธรรมนิยาม อันบ่งบอกถึงไตรลักษณ์นี้ ชี้ชัดว่า เฉพาะสังขารเท่านั้นที่เป็นอนิจจังและเป็นทุกข์ทั้งหมดทั้งสิ้น คือ ยังมีธรรมบางอย่างที่ไม่เป็นอนิจจังและไม่เป็นทุกขัง ได้แก่ธรรมที่ไม่เป็นสังขาร
แต่ธรรมทุกอย่าง รวมทั้งธรรมที่ไม่เป็นสังขารนั้นด้วย เป็นอนัตตา คือล้วนมิใช่อัตตา ไม่มีอัตตา ไม่เป็นอัตตา หมดทั้งสิ้น ไม่ยกเว้นสิ่งใดทั้งนั้น ไม่มีอะไรมีอัตตา ไม่มีอะไรเป็นอัตตาเลย
คำว่า “ธรรม” ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรอยู่นอกเหนือคำว่า “ธรรม” ไม่ว่าสิ่งใดๆ ใช้คำว่าธรรมเรียกได้ทั้งหมด
เมื่อธรรม ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรม จึงจำแนกออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด แต่อาจจัดประมวลได้เป็นกลุ่มเป็นประเภท
การจัดกลุ่มหรือประเภทที่เข้ากับเรื่องในที่นี้ คือ ธรรม ทั้งปวงจำแนกเป็น ๒ จำพวก ได้แก่ สังขตธรรม และอสังขตธรรม
สังขตธรรม คือ ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง หรือสภาวะที่เกิดจากปัจจัยหนุนเนื่องกันขึ้นมา เรียกง่ายๆ ว่า “สังขาร” ได้แก่ รูปธรรมและนามธรรมทั่วไป ที่จัดเข้าในขันธ์ ๕
อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง หรือสภาวะที่มิใช่เกิดจากปัจจัยหนุนเนื่องกันขึ้นมา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วิสังขาร” ได้แก่ สภาวะอันพ้นจากขันธ์ทั้ง ๕ คือนิพพาน
โดยนัยนี้ จึงแสดงหลักธรรมนิยามแบบขยายความได้ ดังนี้
๑. สังขาร คือ สังขตธรรม (ขันธ์ ๕) ทั้งปวง ไม่เที่ยง
๒. สังขาร คือ สังขตธรรม (ขันธ์ ๕) ทั้งปวง เป็นทุกข์
๓. ธรรม คือ สังขตธรรม และอสังขตธรรม ทั้งปวง ไม่มีไม่เป็นอัตตา
พึงสังเกตไว้ให้ตระหนักชัดว่า พระพุทธเจ้าตรัสมาตามลำดับใน ๒ ข้อแรก ทั้งข้อไม่เที่ยง และข้อเป็นทุกข์ เหมือนกันว่า “สังขาร ทั้งปวง” แต่พอถึงข้อ ๓ ที่เป็นอนัตตา ทรงเปลี่ยนเป็น “ธรรม ทั้งปวง”
เมื่อมองตรงตามพุทธพจน์นี้ พุทธประสงค์ หรือพุทธาธิบายเกี่ยวกับขอบเขตแห่งความหมายของอนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา ก็ชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้ว ว่าข้อไหนแค่ใด ไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม