| |
สุขเหนือเวทนา  |   |  

เป็นอันว่า เหลือแต่สุขขั้นสุดท้าย คือข้อที่ ๑๐ อย่างเดียว ที่ต่างออกไป โดยเป็นสุข แต่ไม่เป็นเวทนา หรือเป็นสุขได้โดยไม่ต้องมีการเสวยอารมณ์ จะเรียกว่า สุขเหนือเวทนา ก็ได้ ตามที่ท่านแสดงไว้ มุ่งเอาสุขเนื่องด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาเวทยิตนิโรธนี้ เป็นสมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา จึงเป็นธรรมดาที่จะไม่มีเวทนา

อาจมีผู้สงสัยว่า ถ้าไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร เพราะความสุขเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง แต่ตามความเป็นจริง ความสุขที่ไม่เป็นเวทนา ก็มี ดังพุทธพจน์ที่ตรัสในเรื่องนี้ว่า

อานนท์ ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่, นี้แล คือความสุขอื่น ที่ดีเยี่ยมกว่า และประณีตกว่าความสุข (ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ) นั้น”

“อาจเป็นไปได้ ที่อัญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวว่า พระสมณโคดมตรัสสัญญาเวทยิตนิโรธไว้ และทรงบัญญัติ (จัดเอา) สัญญาเวทยิตนิโรธนั้นเข้าในความสุขด้วย, ข้อนั้นคืออะไรกัน ข้อนั้นเป็นได้อย่างไรกัน;

“เธอพึงกล่าวชี้แจงกะอัญเดียรถีย์ปริพาชกที่พูดอย่างนั้นว่า; นี่แน่ะท่าน พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติไว้ในความสุข หมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ก็หาไม่, ในที่ใดๆ พบความสุขได้ ในภาวะใดๆ มีความสุข พระตถาคตย่อมทรงบัญญัติฐานะภาวะนั้นๆ ไว้ในความสุข (คือจัดเอาฐานะหรือภาวะนั้นๆ เข้าเป็นความสุข)”2133

สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นภาวะเทียบคล้ายภาวะนิพพาน และสุขโดยไม่มีการเสวยอารมณ์ หรือสุขไม่เป็นเวทนา แห่งสัญญาเวทยิตนิโรธนี้ ก็เป็นประดุจนิพพานสุข 2134

เรื่องนี้ พระสารีบุตรก็เคยอธิบายไว้ในนิพพานสูตร2135 ความย่อว่า ครั้งหนึ่ง ท่านได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข นิพพานนี้เป็นสุข”

พระอุทายีถามท่านว่า จะมีความสุขได้อย่างไร ในภาวะที่ไม่มีการเสวยอารมณ์ พระสารีบุตรตอบว่า นิพพานที่ไม่มีการเสวยอารมณ์ (ไม่มีเวทนา) นี่แหละเป็นสุข จากนั้น ท่านได้อธิบายด้วยวิธียกตัวอย่างภาวะในสมาบัติ เป็นเครื่องเทียบเคียงให้เข้าใจโดยนัยอ้อม

ตามคำอธิบายของพระสารีบุตรนั้น ท่านมิได้ใช้เฉพาะแต่สัญญาเวทยิตนิโรธอย่างเดียวเท่านั้นเป็นเครื่องเทียบ ท่านใช้ภาวะในฌานทุกชั้น ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปทีเดียว เป็นเครื่องแสดงให้เห็นแง่ที่จะเทียบเคียงเข้าใจความสุขแห่งภาวะนิพพานได้


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |