| |
บันทึกที่ ๖: การเคารพตามอายุสมาชิกภาพ  |   |  

การกำหนดเอาอายุสมาชิกภาพเป็นหลักในการแสดงความเคารพกันเช่นนี้ เป็นวิธีที่เหมาะสม สะดวก และได้ผลจริงจังในทางปฏิบัติ สมตามวัตถุประสงค์ของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมุ่งให้สงฆ์เป็นชุมชนแบบอย่าง ซึ่งไม่มีการถือชาติชั้นวรรณะ

ทางเลือกอีกอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ คือ กำหนดเอาภูมิธรรมที่ได้บรรลุเป็นหลัก แต่ทางเลือกนี้จะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายเป็นอันมาก และจะไม่สำเร็จผลแท้จริง เพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ยากจะพิสูจน์ว่าใครจริงใครเท็จ และผู้บรรลุเองก็ย่อมไม่เที่ยวอวดอ้าง ทางเลือกนี้ก็มีภิกษุบางท่านเสนอ แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงยอมรับ

หลักการที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ในเรื่องนี้ นับว่าเป็นข้อที่น่าศึกษา เพราะในขณะเดียวกับที่ทางด้านความสัมพันธ์ทางสังคม อันเป็นภายนอก ให้ถือเอาอายุสมาชิกภาพเป็นหลักกำหนด แต่ทางด้านการฝึกฝนอบรมเพื่อเข้าถึงจุดหมายสูงสุด อันเป็นด้านใน และเป็นสาระสำคัญของพระพุทธศาสนา กลับถือเอาคุณธรรมเป็นอุดมคติ และเป็นสาระแห่งการเคารพที่แท้ นับว่าเป็นหลักการแบบคู่คานกัน คู่คุมกัน และคู่ฉุดนำซึ่งกันและกัน ระหว่างระบบความสัมพันธ์ทางสังคม กับระบบการฝึกปรือคุณธรรมในจิตใจ ระหว่างชีวิตในทางปฏิบัติ กับชีวิตด้านในที่เป็นอุดมคติ หรือระหว่างวินัย กับธรรมนั่นเอง

พระภิกษุที่ได้รับความเคารพตามบทบัญญัติทางวินัย หรือตามระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคม ย่อมต้องรู้ตระหนักตามหลักการแห่งธรรมว่า สิ่งที่จะทำให้ตนเป็นผู้ควรแก่การเคารพกราบไหว้จริง สมกับภาวะหรือฐานะ ก็คือภูมิธรรมภายในที่ได้บรรลุ หรือความประพฤติดีปฏิบัติชอบ (ความมีสุปฏิบัติ เป็นต้น ตามหลักสังฆคุณ ๙) ซึ่งจะต้องฝึกอบรมให้เกิดมีขึ้นในตน

จึงมีพุทธพจน์ตรัสเตือนผู้ใหญ่ไว้หลายแห่ง เช่น ในธรรมบทว่า “คนไม่ใช่เป็นเถระ (ผู้ใหญ่) เพียงเพราะมีผมหงอก (ถึง) วัยของเขาจะแก่หง่อม ก็เรียกว่าแก่เปล่า ส่วนผู้ใดมีสัจจะ ธรรม อหิงสา ความควบคุม และฝึกตน ผู้นั้นแหละเป็นปราชญ์คายมลทินแล้ว เรียกได้ว่าเป็นเถระ” (ขุ.ธ.25/29/50)

บาลีแห่งหนึ่ง (ที.ปา.11/228/230; ที.อ.๓/๒๔๕) แบ่งเถระเป็น ๓ พวก คือ ชาติเถระ (ผู้ใหญ่โดยกำเนิด คือตามอายุ) ธรรมเถระ (ผู้ใหญ่โดยธรรม) และ สมมติเถระ (ผู้ใหญ่โดยสมมติ คือตามที่ตกลงเรียกขาน หรือสักว่าเรียกกัน, เถระ ตามกำหนดทางวินัย ก็จัดเข้าได้ในสมมติเถระ)

(เรื่องวุฒิ ๓ คือ ชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ พึ่งมีในชั้นอรรถกถา คือ ชา.อ.๑/๓๒๘; วินย.ฏีกา ๔/๓๙๙; และใน สุตฺต.อ.๒/๑๖๗ เพิ่มปัญญาวุฒิ เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง เป็นวุฒิ ๔)

อีกแห่งหนึ่ง ตรัสคุณธรรมที่จะทำให้เป็นเถระไว้ ๔ ประการ (เถรกรณธรรม ๔ = องฺ.จตุกฺก.21/22/28; พึงดูเถร-ธรรม ๑๐ ใน องฺ.ทสก.24/98/215 ด้วย)

(พุทธบัญญัติให้ภิกษุแสดงความเคารพตามอ่อนแก่พรรษา มาใน วินย.7/260-264/113-118; กรณียกเว้น ก็เพราะเคารพธรรม = วินย.7/284/130; และพึงดู สํ.สฬ.18/211/154)


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |