| |
๔) แก้กรรม ด้วยปฏิกรรม  |   |  

ปฏิกรรม เป็นคำสอนสำคัญส่วนหนึ่งของหลักกรรม คำว่า “ปฏิกรรม” นิยมแปลกันมาในภาษาพระว่า “การทำคืน” ถ้าแปลให้เห็นศัพท์เดิม หรือล้อคำเดิม ก็คือ “การแก้กรรม” หมายถึง การแก้ไข การทำให้กลับคืนดี การทำใหม่ให้เปลี่ยนเป็นดี การเลิกละกรรมชั่วหันมาทำกรรมดี หรือการกลับตัว

ปฏิกรรม หรือแก้กรรมนี้ แต่เดิมเป็นคำพื้นๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มีความหมายว่า ถ้าอะไรเสียหาย เสื่อมโทรมไป ก็แก้ไขให้กลับคืนดี หรืออะไรที่ทำไปขาดตกบกพร่อง ก็ปรับแก้ใหม่ ให้เต็ม ให้สมบูรณ์ การจัดการแก้ไขความผิดพลาดต่างๆ เพื่อพลิกกลับให้เป็นไปในทางที่ดี รวมทั้งการเยียวยาแก้ไขบำบัดโรค ก็เรียกว่าเป็นปฏิกรรมทั้งนั้น

เมื่อใช้เป็นศัพท์ในทางธรรม ปฏิกรรมมีสาระสำคัญ คือ ยอมรับความผิดพลาดที่ได้ทำไปแล้ว ละเลิกบาปอกุศลหรือการกระทำผิดพลาดเสียหายที่เคยทำนั้น เปลี่ยนไปทำกรรมที่ดีแทน หรือหันกลับจากความชั่วร้าย มาทำความดีงามถูกต้อง ทำบุญกุศล แก้ไขปรับปรุงตน เปลี่ยนแปรกรรมจากการทำความชั่วมาทำความดี ตลอดจนแก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อก้าวขึ้นไปสู่ความถูกต้องสมบูรณ์

ในพระธรรมวินัยนี้ สำหรับพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงนำหลักปฏิกรรมมาวางเป็นพุทธบัญญัติ ซึ่งกำหนดเป็นวินัยที่มีผลบังคับให้ต้องปฏิบัติ จัดเป็นวินัยบัญญัติ ๒ เรื่อง คือ อาปัตติปฏิกรรม และปวารณากรรม พร้อมกันนั้น ในวงกว้างออกไป สำหรับทุกคน ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ทรงเน้นย้ำให้บำเพ็ญปฏิกรรม ที่มากับความสำนึกและสารภาพความผิด (เรียกว่า อัจจยเทศนา) ถือว่าเป็นหลักปฏิบัติในแบบแผนของอารยชน (อริยวินัย)

รวมเป็นหลักปฏิกรรม ที่เป็นระบบวิธีปฏิบัติทางสังคมขั้นพื้นฐานในพระธรรมวินัยนี้ ๓ ประการ คือ

๑. อาปัตติปฏิกรรม ซึ่งแปลกันว่า การทำคืนอาบัติ หรือปลงอาบัติ เป็นวินัยบัญญัติ (สำหรับพระสงฆ์) มีสาระสำคัญว่า ทำความผิดแล้ว ก็รู้ตัว เปิดเผยความผิดนั้น และบอกว่าเลิกละ จะไม่ทำอีก คือการที่ภิกษุหรือภิกษุณีบอกแจ้งความผิดของตน เพื่อจะสังวรต่อไป

ทั้งนี้ แม้แต่แค่สงสัย ท่านก็วางวิธีปฏิบัติไว้ให้ ดังเช่น เมื่อถึงวันอุโบสถ ภิกษุรูปหนึ่งเกิดความสงสัยว่าตนอาจจะได้ต้องอาบัติ ก็บอกแจ้งแก่ภิกษุอื่นรูปหนึ่งว่า (เช่น วินย.4/186/246) “อห อาวุโส อิตฺถนฺนามาย อาปตฺติยา เวมติโก, ยทา นิพฺเพมติโก ภวิสฺสามิ, ตทา ต อาปตฺตึ ปฏิกริสฺสามิ” (ท่านครับ ผมมีความสงสัยในอาบัติชื่อนี้ หายสงสัยเมื่อใด จักปฏิกรรมอาบัตินั้น เมื่อนั้น; รูปกริยาของปฏิกรรม คือ “ปฏิกร~” นิยมแปลกันมาว่า “ทำคืน” ในที่นี้ แปลทับศัพท์ว่า “ปฏิกรรม” เพื่อให้เห็นชัด)

๒. ปวารณากรรม คือ การบอกเปิดโอกาสเชื้อเชิญให้ว่ากล่าวตักเตือน เป็นวินัยบัญญัติ (สำหรับพระสงฆ์) เป็นสังฆกรรมประจำปีตอนจบการจำพรรษา เรียกสั้นๆ ว่า “ปวารณา” มีหลักการว่า หลังจากอยู่ร่วมกันมาตลอดพรรษา ภิกษุหรือภิกษุณีทั้งหลายประชุมกัน และแต่ละรูปกล่าวคำเปิดโอกาสหรือเชิญชวนแก่ที่ประชุมโดยมีสาระว่า ตามที่ได้อยู่ร่วมกันมาถึงบัดนี้ ถ้าได้เห็น ได้ยิน หรือมีเหตุให้น่าระแวงสงสัยว่าตนได้ผิดพลาดบกพร่องทำอะไรเสียหาย ก็ขอให้บอก ขอให้ว่ากล่าว เมื่อมองเห็นแล้ว ก็จะได้ปฏิกรรม ทำการแก้ไข

เริ่มด้วยรูปที่เป็นผู้ใหญ่ที่สุดว่า (วินย.4/226/314) “สงฺฆ อาวุโส ปวาเรมิ ทิฏฺเน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา, วทนฺตุ ม อายสฺมนฺโต อนุกมฺป อุปาทาย, ปสฺสนฺโต ปฏิกริสฺสามิ” (เธอทั้งหลาย ฉันปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอเธอทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน ฉันเห็นอยู่ จักปฏิกรรม)


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง