| |
๑. ความยึดมั่น ในความไม่ยึดมั่น

กระบวนธรรมฝ่ายก่อทุกข์ อาจเรียกชื่อตามองค์ธรรมที่เป็นตัวการสำคัญว่า กระบวนธรรมฝ่ายอวิชชา- ตัณหา ส่วนกระบวนธรรมฝ่ายดับทุกข์ ก็อาจเรียกชื่อตามองค์ธรรมที่สำคัญว่า กระบวนธรรมฝ่ายวิชชา-วิมุตติ ถ้าเรียกอย่างง่ายๆ ฝ่ายแรก คือ ไม่รู้ จึงติด ฝ่ายหลังเป็น พอรู้ ก็หลุด

ในฝ่ายอวิชชา–ตัณหา นั้น องค์ธรรมที่เป็นขั้วต่อ ซึ่งพาเข้าไป หรือนำไปสู่ชาติภพ ก็คือ อุปาทาน ที่แปลว่า ความถือมั่น ความยึดมั่น หรือความยึดติดถือมั่น ส่วนในฝ่ายวิชชา–วิมุตติ องค์ธรรมที่เป็นขั้วต่อ ซึ่งพาออกไป หรือเป็นจุดแยกออกจากสังสารวัฏฏ์ ได้แก่ นิพพิทา แปลกันว่า ความหน่าย คือหมดใคร่ หายอยาก หรือหายติด องค์ธรรมสองฝ่ายนี้ มาจับคู่ตรงข้ามกัน เป็น อุปาทาน กับ นิพพิทา

อุปาทาน เกิดจากอวิชชา ที่ไม่รู้จักสิ่งนั้นๆ ตามสภาวะที่แท้จริง เปิดทางให้ตัณหาอยากได้ใคร่จะเอา มาครอบครองเสพเสวย แล้วเอาตัวตนเข้าผูกพันถือมั่นถือหมายว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ ที่เรียกว่าอุปาทาน

ส่วนนิพพิทา เกิดจากความรู้เข้าใจสิ่งที่เคยยึดติดถือมั่นไว้นั้นตามสภาวะ ว่ามีข้อเสียข้อบกพร่อง ไม่ปลอดภัยอย่างไรๆ เป็นสิ่งที่ไม่น่า และไม่อาจจะเอาตัวเข้าไปผูกพันไว้ แล้วเกิดความหน่าย หมดความเพลิดเพลินติดใจ อยากจะผละออกไปเสีย

จะเห็นว่า อุปาทาน เกิดสืบเนื่องมาจากอวิชชา ความไม่รู้สภาวะ ส่วนนิพพิทา เกิดจากความรู้เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งท่านมีศัพท์เฉพาะให้ว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |