ไปยังหน้า : |
ลักษณะสำคัญที่เป็นพื้นฐานทางปัญญาของผู้บรรลุนิพพาน คือ การมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นหรือเห็นตามเป็นจริง เริ่มต้นตั้งแต่การรับรู้อารมณ์ทางอายตนะ ดัวยจิตใจที่มีท่าทีเป็นกลางและมีสติไม่หวั่นไหว ไม่ถูกชักจูงไปตามความชอบใจ ไม่ชอบใจ สามารถตามดูรู้เห็นอารมณ์นั้นๆ ไปตามสภาวะของมัน ตั้งแต่ต้นจนตลอดสาย ไม่ถูกความติดพัน ความข้องขัดขุ่นมัว หรือความกระทบกระแทกที่เนื่องจากอารมณ์นั้นฉุดรั้งหรือสะดุดเอาไว้ให้เขวออกไปเสียก่อน
ทั้งนี้ ต่างจากปุถุชนที่เมื่อรับรู้อารมณ์ใด ก็มักไปสะดุดอยู่ตรงจุดหรือแง่ที่กระทบความชอบใจไม่ชอบใจ แล้วเกาะเกี่ยวพัวพันอยู่ตรงนั้น สร้างความตริตรึกคิดปรุงแต่งผันพิสดารขึ้นตรงนั้น แล้วไถลหรือเขวออกไปจากทางแห่งความเป็นจริง เกิดความรู้ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน คือรู้เห็นไปตามอำนาจกิเลสที่ปรุงแต่ง ไม่รู้เห็นตามความเป็นไปของสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องราวมีสาระอย่างเดียวกัน คนหนึ่งมาพูดโดยเสริมคำเยิรยอผู้ฟัง ประกอบเข้าด้วย ผู้ฟังนั้นเห็นคล้อยไปตาม แต่อีกคนหนึ่งมาพูดโดยไม่เสริมแต่งเลย ผู้ฟังเดียวกันนั้นกลับไม่เห็นชอบด้วย หรือข้อความอย่างเดียวกัน คนที่ผู้ฟังรักใคร่ชอบใจนำมาพูด ผู้ฟังชมว่าถูกต้องเห็นดีเห็นงามไปตาม แต่คนที่ผู้ฟังเกลียดชังนำมาพูด ผู้ฟังเห็นเป็นสิ่งผิดพลาดเสียหาย ไม่อาจยอมรับได้ ดังนี้เป็นต้น 689
ลึกซึ้งลงไปอีก คือปัญญาที่รู้เท่าทันสังขาร รู้สามัญลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้เท่าทันสมมติบัญญัติ ไม่ถูกหลอกให้หลงไปตามรูปลักษณ์ภายนอกของสิ่งทั้งหลาย และยอมรับความจริงทุกด้าน มิใช่ติดอยู่เพียงแง่ใดแง่หนึ่ง
ความรู้เห็นตามที่มันเป็น หรือรู้เห็นตามความเป็นจริงขั้นนี้ จะช่วยแก้ความเข้าใจผิดที่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นลัทธิมองแง่ร้ายได้โดยสิ้นเชิง เช่น ผู้เข้าถึงพุทธธรรมรู้ว่าขันธ์ ๕ มิใช่เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยส่วนเดียว690รู้ว่า
“ความอยากย้อมใจที่เกิดจากความนึกคิดของคน (ต่างหาก) เป็นกาม, อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลก หาชื่อว่ากามไม่... อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลก ย่อมตั้งอยู่ตามสภาพของมันอย่างนั้นเอง ดังนั้น ธีรชนทั้งหลายจึงเปลื้องออกไป (เพียง) ความติดใจชอบในอารมณ์เหล่านั้น”691
ผู้ที่จะตรัสรู้ได้ ต้องเข้าใจทั้งส่วนดีหรือส่วนที่น่าชื่นชม (อัสสาทะ) ส่วนเสียหรือส่วนที่เป็นโทษ (อาทีนพ) และทางปลอดพ้น (นิสสรณะ) ของกาม ของโลก ของขันธ์ ๕ มองเห็นส่วนดีว่าเป็นส่วนดี มองเห็นส่วนเสียว่าเป็นส่วนเสีย มองเห็นทางปลอดพ้นว่าเป็นทางปลอดพ้น แต่ที่ละกาม หายติดใจในโลก เลิกยึดขันธ์ ๕ เสีย ก็เพราะมองเห็นทางปลอดพ้นเป็นอิสระ (นิสสรณะ) ซึ่งจะทำให้อยู่ดีมีสุขได้โดยไม่ต้องขึ้นต่อส่วนดีและส่วนเสียเหล่านั้น อีกทั้งเป็นการอยู่ดีมีสุขที่ประเสริฐกว่า ประณีตกว่า อีกด้วย692