ไปยังหน้า : |
ในเมื่อนิพพานเป็นสิ่งเห็นได้ยาก หยั่งรู้ตามได้ยาก เมื่อยังไม่เห็น ก็นึกไม่เห็น เมื่อยังไม่เข้าถึง ก็คิดไม่เข้าใจ ถ้อยคำที่จะใช้บอกตรงๆ และสัญญาที่จะใช้กำหนดก็ไม่มี ดังได้กล่าวมาฉะนี้ จึงน่าสังเกตว่า ในการกล่าวถึงนิพพาน ท่านจะพูดอย่างไร หรือใช้ถ้อยคำอย่างไร
ตามที่ได้ประมวลดู พอจะสรุปวิธีพูดถึง หรืออธิบายนิพพานได้ ๔ อย่าง คือ
๑. แบบปฏิเสธ คือ ให้ความหมายอันแสดงถึงการละ การกำจัด การเพิกถอนภาวะไม่ดี ไม่งาม ไม่เกื้อกูล ไม่เป็นประโยชน์ต่างๆ ที่มีอยู่ในวิสัยของฝ่ายวัฏฏะ เช่นว่า “นิพพานคือความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ”559 “นิพพานคือความดับแห่งภพ”560 “นิพพานคือความสิ้นตัณหา”561 “ที่จบสิ้นของทุกข์” 562 ดังนี้เป็นต้น หรือใช้คำเรียกอันแสดงภาวะที่ตรงข้ามกับภาวะฝ่ายวัฏฏะโดยตรง เช่น “เป็นอสังขตะ”563 (ไม่ถูกปรุงแต่ง) “อชระ” (ไม่แก่) “อมตะ” (ไม่ตาย) เป็นต้น
๒. แบบไวพจน์ หรือเรียกตามคุณภาพ คือ นำเอาคำพูดบางคำที่ใช้พูดเข้าใจกันอยู่แล้ว อันมีความหมายเกี่ยวกับภาวะที่สมบูรณ์ หรือดีงามสูงสุด มาใช้เป็นคำเรียกนิพพาน เพื่อแสดงถึงคุณลักษณะของนิพพานนั้น ในบางแง่บางด้าน เช่น “สันตะ” (สงบ) “ปณีตะ” (ประณีต) “สุทธิ” (ความบริสุทธิ์) “เขมะ” (ความเกษม) เป็นต้น