| |
แม้ว่าฉันทะจะขยายไปถึงเมตตากรุณา ตัณหาก็ยังตามไปรังควาน  |   |  

แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อย จิตมิใคร่จะเดินไปตามกระบวนธรรมอย่างนี้ ถ้าเป็นกรณีของต้นไม้และสิ่งอื่นๆ ในธรรมชาติ ก็อาจเป็นไปได้ง่ายสักหน่อย แต่ถ้าเป็นคนด้วยกันมักทำได้ยาก ตัณหาในรูปใดรูปหนึ่งมักวิ่งเข้ามาขัดหรือครอบงำกุศลจิตนั้นเสียมิทันช้า เช่น เมื่อเห็นคนแข็งแรง สมบูรณ์ รูปร่างสวยงามเจริญตา ถ้าเป็นคนต่างเพศ แทนที่จะอนุโมทนา ตัณหากลับเข้าชักพาให้มองเห็นเป็นแหล่งที่พึงเสพสุขเวทนา ถ้าเป็นเพศเดียวกัน ก็มักให้รู้สึกเป็นเครื่องบีบคั้นกดดันแก่อัตตา ทำให้ตนด้อยหรือลดความสำคัญลง

โดยนัยนี้ แทนที่จะมีจิตใจเปิดกว้างเผื่อแผ่เบิกบานด้วยเมตตา อยากให้เขาอยู่ในภาวะดีงามสุขสมบูรณ์ที่เขาควรจะเป็นของเขา ก็กลับเอามาปะทะกระแทกกับตัวตน เลยคับแคบรัดตัวมัวหมองลงด้วยตัณหา กลายเป็นสิเนหะ หรือราคะบ้าง อิสสามัจฉริยะ หรือความริษยาและหึงหวงบ้าง2052ซึ่งล้วนเป็นอกุศล ไม่ดี มีโรค ไม่โปร่ง ไม่สบาย ไม่เกื้อกูลทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

ความที่กล่าวมานี้ ให้คติอย่างหนึ่งว่า หากจะตรวจสอบความรักของตนต่อบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งว่าเป็นเมตตาแท้จริง หรือมีเมตตาอยู่บ้าง แต่เจือด้วยตัณหา หรือว่าเป็นเพียงอาการของตัณหาเท่านั้น ก็พึงถามตนเองว่า ถ้าเราไม่อาจหาสุขเวทนาจากตัวเขาได้ และถ้าชีวิตของเขาไม่เป็นเครื่องค้ำจุนความมั่นคงถาวรแห่งตัวตนของเราอีกต่อไป เราจะยังคงรักเขาหรือไม่ เราจะยังเห็นชีวิตของเขามีคุณค่าที่พึงใส่ใจทะนุถนอมหรือไม่ เราจะยังยินดีในความดำรงอยู่ด้วยดีของเขาต่อไปอีกหรือไม่

ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ถือกันว่าเป็นตัวอย่างมาตรฐานของเมตตา พ่อแม่รักลูก หวังดีต่อลูก ยินดีในความดำรงอยู่เป็นอยู่ด้วยดีของลูก อยากให้ชีวิตของลูกเจริญงอกงาม มีความสุข ปราศจากโรคภัย ความรักความปรารถนาดีนี้ เป็นไปโดยพ่อแม่มิได้หวังที่จะใช้ชีวิตร่างกายของลูกเป็นที่เสพเสวยสุขเวทนา และถึงแม้ชีวิตของลูกจะไม่เป็นเงื่อนไขช่วยค้ำจุนความมั่นคงถาวรแห่งตัวตนของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ยังคงรักและหวังดี เอาใจใส่ในการที่จะให้ลูกดำรงชีวิตอยู่ด้วยดี ข้อนี้นับว่าเป็นคุณธรรม คือ เมตตา ของพ่อแม่

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อพ่อแม่ยังเป็นปุถุชน ตัณหาก็ย่อมมีโอกาสแทรกซึมเข้ามาเจือปนในความรักของพ่อแม่ได้บ้าง ไม่อาจให้เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์สิ้นเชิง ดังจะเห็นได้ในอาการที่ยึดมั่นต่อลูกว่าเป็นเราเป็นของเรา พ่อแม่ยังมักหวังอยู่มากบ้างน้อยบ้าง ที่จะให้ชีวิตของลูกเป็นเครื่องช่วยเสริมความมั่นคงถาวร หรือความยิ่งใหญ่แห่งตัวตน เช่น อยากให้ลูกมีฐานะดี เพื่อตนจะได้ภูมิใจพลอยมีเกียรติ หรือกลัวลูกตกต่ำ เพราะกลัวว่าตนจะเสียหน้า เป็นต้น


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |