| |
บริโภคกามสุขอย่างอิสรชน รู้จักจัดรู้จักใช้ขยายประโยชน์สุข ก็เป็นผู้ประเสริฐ เป็นอริยสาวก  |   |  

ดังที่กล่าวแล้วว่า ถ้าเป็นคนมีนิสสรณปัญญา บริโภคกามสุขหรืออามิสสุขนี้ ด้วยปัญญารู้เท่าทัน รักษาจิตใจให้เป็นอิสระได้ ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ และกินใช้กามวัตถุด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันนั้น โดยเข้าใจความเป็นไปได้ในทางที่จะทำให้ดี และมองเห็นช่องที่จะเสียหายเกิดโทษ รู้จักจัดการวัตถุและกิจการให้เกื้อกูลเป็นคุณก่อเกิดประโยชน์สุข ทั้งแก่ตนเอง และแก่ผู้อื่น ทั้งแก่ตน แก่ครอบครัว แก่คนใกล้ชิดข้างเคียง แก่บรรดาหมู่ชนในความดูแลรับผิดชอบ แก่คนร่วมงานร่วมกิจการ คนในวงการ ตลอดจนคนในสังคมทั้งหมด พร้อมทั้งตระหนักในการที่จะนำทั้งตนและผู้อื่น ให้พัฒนาสูงขึ้นไปในอริยมรรคา ถ้าอย่างนี้ ก็เป็นบุคคลที่ท่านถือว่าเป็นอริยสาวก

สำหรับพระสงฆ์หรือชาววัด ผู้พึงหมายความสุขอิสระภายในที่สูงขึ้นไป จะได้ยินท่านสอนให้ละสละกาม ให้ปลดเปลื้องตัวพ้นไปจากวัตถุทั้งหลาย แต่สำหรับคฤหัสถ์ชนหรือบรรดาชาวบ้าน2115 ท่านไม่ได้มาสอนเน้นให้เว้นกามอย่างนั้น แต่ท่านมุ่งสอนให้ปฏิบัติจัดการกับการเสพบริโภควัตถุ และการอยู่กับกามสุข ให้เป็นไปด้วยดี อย่างที่ว่าให้ห่างโทษภัย และให้เกื้อกูลเป็นคุณเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางมากมายและสูงที่สุด

แน่นอนว่า ปัญญารู้ทางรอด ที่เรียกว่า “นิสสรณปัญญา” นั้น ย่อมเป็นแกนนำสำหรับชีวิตของคฤหัสถ์หรือสาคารชน ทั้งในการที่จะบริหารกามโภคะ ให้ปลอดภัยไร้โทษ ห่างการเบียดเบียน แต่ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลดังว่าแล้ว และในการที่จะชี้นำให้ก้าวต่อไปในการพัฒนาชีวิตขึ้นสู่ประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไปๆ ท่านจึงเน้นย้ำการใช้ปัญญานี้อยู่เสมอ ในการเกี่ยวข้องและปฏิบัติต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ให้รู้ทั่วทันใน ๓ จุดหลัก คือ คุณ-โทษ-ทางออก หรือ จุดเด่น ข้อดี ส่วนเสีย ข้อด้อย และจุดหลุดรอดออกไปเป็นอิสระ ซึ่งเป็นภาวะที่เต็มสมบูรณ์ พ้นจากข้อดีข้อด้อยที่ยังสัมพัทธ์กันนั้น ในทุกขั้นทุกตอนที่ไปถึง

ตามปกติ สำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไป ซึ่งพื้นความรู้ความเข้าใจยังไม่มีหรือไม่มาก และยังไม่ได้คิดมุ่งที่จะสละละบ้านเรือนออกมา พระพุทธเจ้าทรงสอนด้วยการแสดงธรรมตั้งแต่พื้นฐานขึ้นไปตามลำดับ ดังที่เรียกว่า อนุปุพพิกถา คือเทศนาหรือคำบรรยายธรรม ที่แสดงสูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ โดยลำดับ

อนุปุพพิกถานั้น ประกอบด้วยคำบรรยายย่อย ๕ ตอน (๓ กถา กับ ๒ ความสืบเนื่อง) คือ ทานกถา คำบรรยายเรื่องการให้ การสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันเกื้อกูลกัน สีลกถา คำบรรยายเรื่องความประพฤติดีงาม ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ก่อความเดือดร้อนเวรภัยในสังคม ต่อด้วย สัคคกถา คำบรรยายว่าด้วยสวรรค์ คือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งมีความสุขด้วยกามวัตถุทั้งหลาย ให้เห็นถึงชุมชนจนถึงหมู่เทพไท้เทวา ที่อยู่กันดีมีความสุขในระดับของกามสุขนั้น นี่ก็คือผลจากทาน และศีลนั่นเอง เห็นได้ชัดว่า ทั้งหมดในตอนนี้ เป็นหลักคำสอนให้คนรับผิดชอบสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้อยู่ดี มีความสุขสมบูรณ์ในระดับของกามสุข

กถา คือคำบรรยายธรรมแท้ๆ มี ๓ เรื่องนี้2116 และนี่ก็คือการนำชาวบ้านหรือเหล่าคหัฏฐชนผู้ฟังเหล่านั้น มาถึงจุดหมายสูงสุดที่พวกเขาดิ้นรนเพียรพยายามแสวงหา ให้เห็นว่า เมื่อดำเนินชีวิตประพฤติปฏิบัติตาม ๒ กถาแรกแล้ว ก็จะมีความสุขสมบูรณ์ เสวยกามโภคะอย่างพรั่งพร้อมด้วยดี อย่างที่ทรงบรรยายในกถาที่ ๓ เป็นอันบรรลุความมุ่งหวังสมดังที่หมาย


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |