| |
ก. ความหมายของสมาธิ

“สมาธิ” แปลกันว่า ความตั้งมั่นของจิต หรือ ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด คำจำกัดความของสมาธิที่พบเสมอ คือ “จิตตัสเสกัคคตา” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เอกัคคตา” ซึ่งแปลว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ การที่จิตแน่วแน่แนบสนิทอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ส่าย ไม่วอกแวก

คัมภีร์รุ่นอรรถกถาระบุว่า สมาธิ คือภาวะมีอารมณ์หนึ่งเดียวของกุศลจิต และไขความว่า หมายถึงการดำรงจิตและเจตสิกไว้ในอารมณ์หนึ่งเดียว อย่างเรียบสม่ำเสมอ และด้วยดี หรือแม้แต่แค่จิตตั้งมั่น 1565

พร้อมนั้น ท่านแสดงสาระสำคัญไว้ ซึ่งขอพูดให้ง่ายว่า สมาธิมีลักษณะไม่ส่ายหรือไม่ฟุ้งซ่าน มีหน้าที่ช่วยให้ประดาธรรมที่เกิดร่วมรวมตัวกันอยู่ได้ เหมือนน้ำผนึกผงแป้งไว้ไม่ฟุ้งกระจาย ปรากฏเป็นความสงบ โดยมีความสุขเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) อย่างพิเศษที่จะให้ถึงสมาธิ จิตที่เป็นสมาธินั้น นิ่งแน่ว เหมือนเปลวเทียนในที่ไม่มีลมกวน ไฟทำงานเผาไหม้ต่อเนื่องไปอย่างสม่ำเสมอ มิใช่หยุดนิ่ง แต่สงบนิ่งแน่ว

สัมมาสมาธิ” ตามคำจำกัดความในพระสูตรทั่วไป เจาะจงว่า ได้แก่ สมาธิตามแนวฌาน ๔ ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสมาธิเป็นไฉน? (คือ) ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก อยู่

๒. เข้าถึงทุติยฌาน อันมีความผ่องใสแห่งจิตภายใน มีภาวะใจเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารระงับไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ อยู่

๓. เพราะปีติจางไป เธอมีอุเบกขาอยู่ มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าถึงตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า ‘เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’

๔. เพราะละสุขละทุกข์ และเพราะโสมนัสโทมนัสดับหายไปก่อน เข้าถึงจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่”1566

อย่างไรก็ตาม คำจำกัดความนี้ น่าจะถือเป็นการแสดงความหมายแบบเต็มกระบวน ดังจะเห็นว่า บางแห่ง ท่านกล่าวถึงจิตตัสเสกัคคตานั่นเอง ว่าเป็นสมาธินทรีย์ ดังความบาลีว่า


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |