ไปยังหน้า : |
ตัณหานั้นมีพวกที่มักพ่วงพามาด้วยกัน ๓ อย่าง รวมเป็นชุด เรียกว่า ปปัญจธรรม (ธรรมที่ทำให้ยืดยาดเยิ่นเย้อยุ่งยาก) ขอแปลง่ายๆ ว่า “กิเลสตัวปั่น” ไม่ต้องอธิบายความหมาย พูดถึงแต่นัยที่จะให้จำง่ายๆ ได้แก่
๑. ตัณหา อยากได้
๒. มานะ อยากใหญ่
๓. ทิฏฐิ ใจแคบ (ยึดติดเอาแต่ความคิดเห็นของตัว, ทิฐิ ก็เขียน)
กิเลสตัวปั่น ๓ ข้อนี้ มุ่งเพื่อตัว รวมศูนย์ไว้ที่ตัวทั้งนั้น พูดง่ายๆ ว่า เป็นชุดความเห็นแก่ตัว เป็นตัวก่อปัญหาในระบบเงื่อนไข ถ้าเมื่อไรมันมาเป็นแรงขับเคลื่อนระบบเงื่อนไขแล้วละก็ จะปั่นป่วนวุ่นวายกันไปหมด ไม่ใช่แค่ว่าทำงานเล่าเรียนศึกษาจะเป็นทุกข์เท่านั้น ปัญหาสารพัดในโลกนี้ก็จะเกิดมีให้เดือดร้อนไปทั่วกัน
รู้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องแก้ปัญหา และด้วยความรู้นั้น ก็แก้ปัญหาได้ นี่ก็ง่ายๆ คือว่า ถ้ามนุษย์ฉลาด ก็พยายามโยงกฎสมมติของมนุษย์ ให้ไปหนุนกฎธรรมชาติให้ได้
มนุษย์ที่ฉลาดตั้งกฎสมมุติขึ้นเพื่ออะไร ก็เพื่อมาหนุนให้กระบวนการของกฎธรรมชาติดำเนินไป ในทางที่จะให้เกิดผลสมตามที่มนุษย์มุ่งหมาย เราอยากให้ต้นไม้เติบโตงอกงาม ต้นไม้จะงามได้ถ้ามีการดูแล เช่น ตัดแต่ง ให้ปุ๋ย รดน้ำ เราก็จึงใช้วิธีแบ่งงาน จัดให้มีคนมาทำสวน โดยให้เขาทำเป็นหน้าที่แบบทำจริงทำจังอย่างไม่ต้องห่วงกังวลอะไรเลย ในเรื่องความเป็นอยู่ก็มีเงินเดือนเลี้ยงชีพอย่างเพียงพอ บอกเขาว่า คุณไม่ต้องเดือดร้อนหรือห่วงอะไรแล้ว ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานทำสวนนี้ให้เต็มที่ไปเลยนะ
นี่คือ เอาระบบเงื่อนไขของกฎมนุษย์มาเชื่อมต่อให้แล้ว ก็เปิดโอกาส และหนุนให้คนนั้นทำเหตุปัจจัยให้เป็นไปตามกฎธรรมชาติได้อย่างเต็มที่