| |
ศีล ในความหมายที่เป็นหลักกลาง อันพึงถือเป็นหลักความประพฤติพื้นฐาน  |   |  

จากความหมายหลัก ตามพุทธพจน์ที่ตรัสจำกัดความ อันเป็นประดุจแกนกลางของการฝึกอบรมขั้นศีลธรรม ที่เรียกว่าอธิศีลสิกขานี้ ก็กระจายออกไป เป็นข้อปฏิบัติและหลักความประพฤติต่างๆ ในส่วนรายละเอียด หรือประยุกต์อย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ทั้งแก่บุคคลและสังคม เริ่มแต่หลักความประพฤติที่ตรงกับในองค์มรรคนี้เอง ซึ่งเรียกว่า กรรมบถ และหลักความประพฤติพื้นฐานที่สุด ที่เรียกว่า เบญจศีล เป็นต้น

อย่างไรก็ดี คำสอนในรูปประยุกต์ ย่อมกระจายออกไปเป็นรายละเอียดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อให้เหมาะกับบุคคล กาละ เทศะ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในการสอนครั้งนั้นๆ ในที่นี้ มิใช่โอกาสที่มุ่งเพื่ออธิบายคำสอนเหล่านั้น จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะรวบรวมรายละเอียดมาแสดง

เนื่องด้วยพุทธธรรมเป็นคำสอนที่มีระบบแน่นอนอยู่แล้ว การแสดงแต่เพียงหลักศูนย์กลางให้เกิดความเข้าใจแบบรวบยอด ก็เป็นการเพียงพอ ส่วนคำสอนในรูปประยุกต์ต่างๆ ก็ปล่อยให้เป็นสิ่งสำหรับผู้ต้องการข้อธรรมที่เหมาะสมกับอัธยาศัย ระดับการครองชีพ และความประสงค์ของตน จะพึงแสวงต่อไป

เมื่อกล่าวโดยสรุป สำหรับคำสอนในรูปประยุกต์ ถ้ามิใช่ประยุกต์ในส่วนรายละเอียดให้เหมาะกับบุคคล กาลเวลา สถานที่ และโอกาสจำเพาะกรณีแล้ว หลักใหญ่สำหรับการประยุกต์ก็คือ สภาพความเป็นอยู่ หรือระดับการครองชีวิต โดยนัยนี้ จึงมีศีล มีข้อบัญญัติ ระบบความประพฤติต่างๆ ที่แยกกันออกไป เป็นศีลสำหรับคฤหัสถ์ และศีลสำหรับบรรพชิต เป็นต้น

ผู้ฝึกศึกษาพัฒนาในศีล จะต้องเข้าใจหลักการ สาระสำคัญ และที่สำคัญยิ่ง คือ วัตถุประสงค์ของศีลเหล่านั้น ทั้งในส่วนรายละเอียดที่ต่างกัน และส่วนรวมสูงสุดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงจะชื่อว่ามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่งมงาย ปฏิบัติธรรมไม่ผิดพลาด และได้ผลจริง

ในที่นี้ จะแสดงตัวอย่างการกระจายความหมายขององค์มรรคขั้นศีลเหล่านี้ ออกไปเป็นหลักความประพฤติที่บังเกิดผลในทางปฏิบัติ หลักความประพฤติที่นำมาแสดงเป็นตัวอย่างนี้ เป็นหลักที่กระจายความหมายออกไปโดยตรง มีหัวข้อตรงกับในองค์มรรคทุกข้อ เป็นแต่เรียงลำดับฝ่ายกายกรรม (ตรงกับสัมมากัมมันตะ) ก่อนฝ่ายวจีกรรม (ตรงกับสัมมาวาจา) และเรียกชื่อว่ากุศลกรรมบถบ้าง สุจริตบ้าง ความสะอาดทางกาย วาจา (และใจ) บ้าง สมบัติแห่งกัมมันตะบ้าง ฯลฯ มีเรื่องตัวอย่าง ดังนี้

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับ ณ เมืองปาวา ในป่ามะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตร นายจุนทะมาเฝ้า ได้สนทนาเรื่องโสไจยกรรม (พิธีชำระตนให้บริสุทธิ์) นายจุนทะทูลว่า เขานับถือบัญญัติพิธีชำระตัวตามแบบของพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัย สาหร่าย บูชาไฟ ถือปฏิบัติการลงน้ำ

บัญญัติของพราหมณ์พวกนี้มีว่า แต่เช้าตรู่ทุกวัน เมื่อลุกขึ้นจากที่นอน จะต้องเอามือลูบแผ่นดิน ถ้าไม่ลูบแผ่นดิน ต้องลูบมูลโคสด หรือลูบหญ้าเขียว หรือบำเรอไฟ หรือยกมือไหว้พระอาทิตย์ หรือมิฉะนั้นก็ต้องลงน้ำให้ครบ ๓ ครั้งในตอนเย็น อย่างใดอย่างหนึ่ง1449


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |