| |
ข) พุทธบัญญัติห้ามภิกษุอวดอุตริมนุสสธรรม  |   |  

บทบัญญัติในวินัย ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ที่มุ่งเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ให้ความสำคัญแก่สงฆ์ ที่ควรกล่าวไว้ในที่นี้อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่พุทธบัญญัติไม่ให้ภิกษุอวด อุตริมนุสสธรรม คือคุณวิเศษ หรือการบรรลุธรรมอย่างสูงที่เกินปกติของมนุษย์สามัญ เช่น สมาธิ ฌาน สมาบัติ มรรคผล ถ้าอวดโดยที่ตนไม่มีคุณวิเศษนั้นจริง คือหลอกเขา ย่อมต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ1900 แต่ถึงแม้ว่าจะได้บรรลุคุณวิเศษนั้นจริง ถ้าพูดอวดหรือบอกกล่าวแก่ชาวบ้าน หรือผู้อื่นใดที่มิใช่ภิกษุหรือภิกษุณี ก็ไม่พ้นเป็นความผิด เพียงแต่เบาลงมา เป็นอาบัติปาจิตตีย์1901

ต้นเหตุที่จะให้มีพุทธบัญญัตินี้ เกิดจากในคราวทุพภิกขภัย ภิกษุพวกหนึ่ง คิดหาอุบายจะให้พวกตนมีอาหารฉันโดยไม่ลำบาก จึงกล่าวสรรเสริญกันและกันให้ชาวบ้านฟังตามที่เป็นจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ว่าท่านรูปนั้นได้ฌาน ท่านรูปนั้นเป็นโสดาบัน ท่านรูปนั้นเป็นพระอรหันต์ ท่านรูปนั้นได้อภิญญา ๖ เป็นต้น ชาวบ้านเลื่อมใส พากันบำรุงเลี้ยงภิกษุกลุ่มนั้นอย่างบริบูรณ์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นห้าม โดยทรงติเตียนว่าไม่สมควรที่จะอวดอ้างคุณความดีพิเศษกันเพราะเห็นแก่ท้อง และสำหรับผู้ที่อวดอ้างโดยไม่เป็นจริง ทรงติเตียนอย่างรุนแรงว่าเป็นมหาโจรที่เลวร้ายที่สุดในโลก เพราะบริโภคอาหารของชาวบ้านชาวเมืองโดยฐานขโมย

พุทธบัญญัติอีกข้อหนึ่ง ในจำพวกห้ามอวดอุตริมนุสสธรรม คือ สิกขาบทที่มิให้ภิกษุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่ชาวบ้าน ภิกษุใดแสดง ภิกษุนั้นมีความผิด ต้องอาบัติทุกกฎ1902 ต้นเหตุเกิดจากเศรษฐีท่านหนึ่ง เอาบาตรไม้จันทน์แขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ แล้วประกาศท้าพิสูจน์ว่า ใครเป็นพระอรหันต์ มีฤทธิ์จริง ก็ขอถวายบาตรนั้น แต่ให้เหาะไปเอาลงมาเอง พระปิณโฑลภารัทวาชะได้ยินคำท้า ประสงค์จะรักษาเกียรติของพระศาสนา


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |