| |
๑๐. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท  |   |  

วิธีคิดแบบวิภัชชวาท ความจริง วิภัชชวาทไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นวิธีพูด หรือการแสดงหลักการแห่งคำสอนแบบหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การคิด กับการพูด เป็นกรรมใกล้ชิดกันที่สุด ก่อนจะพูด ก็ต้องคิดก่อน สิ่งที่พูดล้วนสำเร็จมาจากความคิดทั้งสิ้น ในทางธรรมก็แสดงหลักไว้ว่า วจีสังขาร (สภาวะที่ปรุงแต่งคำพูด) ได้แก่วิตกและวิจาร1374 ดังนั้น จึงสามารถกล่าวถึงวิภัชชวาทในระดับที่เป็นความคิดได้

ยิ่งกว่านั้น คำว่า “วาทะ” ต่างๆ หรือที่เรียกกันว่าวาทะอย่างนั้นอย่างนี้ ก็มีความหมายลึกซึ้ง เล็งไปถึงระบบความคิดซึ่งเป็นที่มาแห่งระบบคำสอนทั้งหมด ที่เรียกกันว่าเป็นลัทธิหนึ่ง ศาสนาหนึ่ง หรือปรัชญาสายหนึ่ง เป็นต้น คำว่าวาทะ จึงเป็นไวพจน์แห่งกันและกัน ของคำว่า ทิฏฐิ ทิฐิ หรือทฤษฎี เช่น สัพพัตถิกวาท คือ สัพพัตถิกทิฏฐิ นัตถิกวาท คือนัตถิกทิฏฐิ สัสสตวาท คือสัสสตทิฏฐิ อุจเฉทวาท คืออุจเฉททิฏฐิ อเหตุกวาท คืออเหตุกทิฏฐิ เป็นต้น

คำว่า “วิภัชชวาท” นี้ เป็นชื่อเรียกอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา เป็นคำสำคัญคำหนึ่ง ที่ใช้แสดงระบบความคิด ที่เป็นแบบของพระพุทธศาสนา และวิธีคิดแบบวิภัชชวาท ก็มีความหมายคลุมถึงวิธีคิดแบบต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วได้หลายอย่าง การกล่าวถึงวิธีคิดแบบวิภัชชวาท นอกจากทำให้รู้จักวิธีคิดแง่อื่นๆ เพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้เข้าใจวิธีคิดบางอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นชัดเจนขึ้นอีกด้วย

การที่วิภัชชวาทเป็นชื่อเรียกอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา หรือเป็นคำหนึ่งที่แสดงระบบความคิดของพระพุทธศาสนานั้น ถือได้ว่าเป็นเพราะพระพุทธเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่าเป็น วิภัชชวาท หรือวิภัชชวาที1375 และคำว่า วิภัชชวาท หรือวิภัชชวาทีนั้น ก็ได้เป็นคำเรียกพระพุทธศาสนา หรือคำเรียกพระนามของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ใช้อ้างกันมาในประวัติการณ์แห่งพระพุทธศาสนา เช่น ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชตรัสถามพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสงฆ์ในการสังคายนาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะอย่างไร พระเถระทูลตอบว่า “มหาบพิตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นวิภัชชวาที”1376

ถึงตรงนี้ ก็เท่ากับบอกว่า วิภัชชวาทนั้นเป็นคำใหญ่ ใช้เรียกรวมๆ หมายถึงระบบวิธีคิดทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

วิภัชชวาท มาจาก วิภัชช + วาท “วิภัชช” แปลว่า แยกแยะ แบ่งออก จำแนก หรือแจกแจง ใกล้กับคำที่ใช้ในปัจจุบันว่าวิเคราะห์ “วาท” แปลว่า การกล่าว การพูด การแสดงคำสอน ระบบคำสอน ลัทธิ วิภัชชวาทก็ แปลว่า การพูดแยกแยะ พูดจำแนก หรือพูดแจกแจง หรือระบบการแสดงคำสอนแบบวิเคราะห์

ลักษณะสำคัญของความคิดและการพูดแบบนี้ คือ การมอง และแสดงความจริง โดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละแง่ละด้าน ครบทุกแง่ทุกด้าน ไม่ใช่จับเอาแง่หนึ่งแง่เดียว หรือบางแง่ ขึ้นมาวินิจฉัยตีคลุมลงไปอย่างนั้นทั้งหมด หรือประเมินคุณค่าความดีความชั่ว เป็นต้น โดยถือเอาส่วนเดียวหรือบางส่วนเท่านั้นแล้วตัดสินพรวดลงไป


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |