| |
๓) การเจริญสมาธิอย่างสามัญ หรือฝึกสมาธิโดยใช้สติเป็นตัวนำ  |   |  

การฝึกสมาธิด้วยอิทธิบาท ๔ นั้น ในด้านชีวิตประจำวัน ใช้ได้กับงาน หรือการประกอบกิจต่างๆ เช่น การเล่าเรียนและกิจกรรมทั้งหลาย ซึ่งมีความก้าวหน้าหรือความสำเร็จของงานหรือกิจนั้นๆ เป็นเป้าหมายให้แก่อิทธิบาท ทำให้เกิดแรงความเพียรประกอบการ ที่เรียกว่าปธานสังขารขึ้นมา พุ่งแล่นไปสู่เป้าหมายนั้น ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน แก้ไข สร้างขึ้นใหม่ หรืออนุรักษ์ ก็ตาม จึงหนุนให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่ เป็นสมาธิอยู่ได้

แต่ในการสัมพันธ์กับอารมณ์ซึ่งเพียงผ่านไปๆ เกี่ยวข้องกับสิ่งที่นิ่งเฉย หรือสิ่งที่ดำรงอยู่ตามสภาพ แทบไม่มีฐานที่ตั้งตัวหรือเป็นที่ทำการของอิทธิบาท ในกรณีเช่นนี้ องค์ธรรมที่จะใช้เป็นเครื่องชักนำหรือฝึกให้เกิดสมาธิ ก็คือ องค์ธรรมพื้นฐานที่เรียกว่า “สติ” เพราะสติเป็นเครื่องดึงและกุมจิตไว้กับอารมณ์ คือ สิ่งที่พึงเกี่ยวข้อง และกิจที่ต้องทำในเวลานั้น ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า สติเป็นที่พึ่งพำนักของใจ

ในวิธีนี้ ใช้สติเริ่มต้นให้แล้ว พอรู้สึกว่าเข้าที หรืออย่างที่ใช้คำพูดแบบชาวบ้านว่าเข้าท่าเข้าทาง ฉันทะก็จะมาตามธรรมชาติเอง

การฝึกสมาธิด้วยอาศัยสติเป็นหลัก แยกได้เป็น ๒ วิธีใหญ่ คือ

๑. การฝึกเพื่อใช้งานทางปัญญา หรือมุ่งประโยชน์ทางปัญญา ได้แก่ การใช้สตินำทางให้แก่ปัญญา หรือทำงานร่วมกับปัญญา โดยคอยจับอารมณ์ส่งเสนอให้ปัญญารู้ หรือพิจารณา (พูดอีกอย่างหนึ่งว่า สติดึง หรือกุมจิตอยู่กับอารมณ์แล้ว ปัญญาก็พิจารณาหรือรู้เข้าใจอารมณ์นั้น)

ตามวิธีฝึกแบบนี้ สมาธิไม่ใช่ตัวเน้น แต่พลอยได้รับการฝึกไปด้วย พลอยเจริญไปด้วยเอง พร้อมกับที่พลอยช่วยส่งเสริมการใช้ปัญญาให้ได้ผลดียิ่งขึ้นด้วย การฝึกแบบนี้ ได้แก่วิธีการส่วนใหญ่ของสติปัฏฐาน ซึ่งได้แสดงหลักการทั่วไปไว้แล้วในตอนที่ว่าด้วยสัมมาสติข้างต้น และเรียกได้ว่าเป็นการเจริญสมาธิในชีวิตประจำวัน

๒. การฝึกเพื่อสร้างสมาธิล้วนๆ หรือมุ่งลึกลงไปในทางสมาธิเพียงด้านเดียว ได้แก่ การใช้สติคอยจับอารมณ์ไว้ ให้จิตอยู่กับอารมณ์นั้น ไม่คลาดจากกัน หรือตรึงจิตให้อยู่กับอารมณ์ที่กำลังกำหนดนั้นเรื่อยไป เป็นวิธีการที่เน้นสมาธิโดยตรง แม้หากบางครั้งจะใช้ปัญญาบ้าง ก็เพียงเล็กน้อยเป็นส่วนประกอบ เช่น เพียงคิดพิจารณารู้ไปตามที่จำๆ มา ไม่มุ่งหยั่งถึงตัวสภาวะ

การฝึกแบบนี้ ได้แก่ส่วนสาระสำคัญของวิธีฝึกแบบที่ ๔ คือ การเจริญสมาธิอย่างเป็นแบบแผน ที่จะกล่าวต่อไป

หนังสือนี้มุ่งกล่าวเฉพาะหลักการทั่วไป ยังไม่กล่าวถึงรายละเอียดของวิธีปฏิบัติ จึงขอผ่านหัวข้อนี้ไปก่อน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |