ไปยังหน้า : |
มัชเฌนธรรมเทศนานั้น โดยตรงก็คือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท หรือปัจจยาการ อันเป็นกฎธรรมชาติ หรือธรรมดาของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พ่วงด้วยไตรลักษณ์
อย่างไรก็ดี ในกฎธรรมชาตินั้น ก็มีสื่งที่เป็นไปตามกฏ คือสิ่งที่เป็นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย ได้แก่สภาวธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะพวกที่เป็นสังขตธรรม หรือสังขาร การที่จะรู้เข้าใจกฏธรรมชาติ ก็ควรต้องรู้จักสิ่งที่ขึ้นต่อกฎ ซึ่งจะเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นไว้ก่อน
ดังนั้น ในการบรรยายเรื่องมัชเฌนธรรมเทศนาต่อไปนี้ จึงจะยกเรื่องสภาวธรรมขึ้นมาเป็นตัวตั้ง ให้รู้จักสภาวธรรมนั้นไว้ก่อน
สภาวธรรมที่ว่านี้ หมายถึงสังขตธรรม หรือบรรดาสังขารดังที่ว่าแล้ว และสังขตธรรมนั้น ที่ควรจะรู้เข้าใจให้ดีที่สุด ก็คือขันธ์ ๕ ที่เป็นชีวิตคน เพราะเป็นเรื่องใกล้ชิดติดตัว และเป็นชุมนุมที่ประชุมสังขตธรรมหรือสังขาร ซึ่งพรั่งพร้อมที่สุด มีทั้งรูปธรรม และนามธรรม
ดังนั้น ต่อจากนี้ จะบรรยายโดยเริ่มด้วยเรื่องขันธ์ ๕ เป็นสภาวธรรมตัวตั้ง แล้วพูดถึงกฎธรรมชาตินั้นๆ ตามลำดับต่อไป