| |
๑. สมถะ – วิปัสสนา  |   |  

สมถะ แปลง่ายๆ ว่าความสงบ แต่ที่ใช้ทั่วไป หมายถึงวิธีทำใจให้สงบ ขยายความว่า ได้แก่ ข้อปฏิบัติต่างๆ ในการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ จนตั้งมั่นเป็นสมาธิ ถึงขั้นได้ฌานระดับต่างๆ จุดมุ่งของสมถะ คือ สมาธิ ซึ่งหมายเอาสมาธิขั้นสูงที่ทำให้เกิดฌาน

หลักการของสมถะ คือ กำหนดใจไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (เรียกว่า “อารมณ์”) ให้แน่วแน่จนจิตน้อมดิ่งอยู่ในสิ่งนั้นสิ่งเดียว (เรียกกันว่า จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง หรือจิตมีอารมณ์อันเดียว) ความแน่วแน่หรือตั้งมั่นของจิตนี้เรียกว่า “สมาธิ

เมื่อสมาธิแนบสนิทเต็มที่แล้ว ก็จะเกิดภาวะจิตที่เรียกว่า ”ฌาน” ซึ่งแบ่งเป็นระดับต่างๆ ระดับที่กำหนดเอารูปธรรมเป็นอารมณ์ เรียกว่า รูปฌาน หรือเรียกง่ายๆ ว่า ฌาน มี ๔ ขั้น ระดับที่กำหนดอรูปธรรมเป็นอารมณ์เรียกว่า อรูปฌาน มี ๔ ขั้น ทั้งรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ เรียกรวมกันว่า สมาบัติ(๘)

ภาวะจิตในฌานนั้น เป็นภาวะที่สุขสงบผ่องใส ไม่มีความเศร้าหมองขุ่นมัว ไม่มีสิ่งรบกวนให้สะดุดหรือติดข้องอย่างใดๆ เรียกว่าปราศจากนิวรณ์ ท่านอนุโลมเรียกว่าเป็นความหลุดพ้นจากกิเลสตลอดเวลาที่ยังอยู่ในฌานนั้นๆ (แต่เมื่อออกจากฌานแล้ว กิเลสกลับมีได้อย่างเดิม ท่านจึงเรียกว่าเป็นวิกขัมภนนิโรธ หรือวิกขัมภน-วิมุตติ คือ ดับกิเลส หรือหลุดพ้นด้วยเอาสมาธิข่มไว้ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น)

นอกจากฌานแล้ว สมถะยังมีผลพลอยได้ที่สืบเนื่องจากฌานนั้นอีก คืออาจทำให้เกิดความสามารถพิเศษที่เรียกว่าอภิญญา ๕ อย่าง ได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ อ่านใจคนอื่นได้ ระลึกชาติได้ หูทิพย์ และตาทิพย์

อย่างไรก็ดี เมื่อใช้อย่างหลวมๆ หรือพูดอย่างกว้างๆ สมถะ ก็คือ การทำใจให้สงบ หรือการทำจิตให้เป็นสมาธิ และบางคราวก็หมายถึงตัวสมาธินั้นเอง

ว่าตามความจริง ความหมายของสมถะที่ว่า คือตัวสมาธินี้แหละ เป็นความหมายที่ตรงตามหลักวิชาทั้งฝ่ายอภิธรรมและฝ่ายพระสูตร824 เพราะไม่ว่าจะเจริญสมถะ จนได้ฌานสมาบัติ หรืออภิญญา เป็นผลสำเร็จสูงพิเศษเพียงใดก็ตาม เนื้อแท้ของสมถะ หรือตัวสมถะ หรือแก่นของสมถะที่ให้ผลเช่นนั้น ก็คือสมาธินั่นเอง


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |