| |
คุณค่าทางจริยธรรม  |   |  

ในด้านคุณค่าทางจริยธรรม คำสอนต่างๆ มักอ้างอิงถึงอนิจจตา คือความไม่เที่ยง มากกว่าลักษณะอื่นอีกสองอย่าง ทั้งนี้เพราะความไม่เที่ยง เป็นภาวะที่ปรากฏชัด มองเห็นง่าย ส่วนทุกขตาเป็นภาวะที่มองเห็นยากปานกลาง จัดเป็นลำดับที่สอง และอนัตตตา เป็นภาวะที่ประณีต มองเห็นได้ยากที่สุด จัดเป็นลำดับสุดท้าย อีกประการหนึ่ง ท่านกล่าวถึงอนิจจตาที่มองเห็นได้ง่าย เพื่อเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะนำเข้าสู่ความเข้าใจในทุกขตาและอนัตตตาต่อไป

พุทธพจน์สองแห่งต่อไปนี้ ซึ่งก็แสดงอนิจจตาเป็นข้อเด่นนำไว้ อาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนที่ชี้ถึงคุณค่าทางจริยธรรม ๒ ประการ ของไตรลักษณ์ คือ

๑. “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป, ความสงบวางแห่งสังขารเหล่านั้น เป็นสุข”204

๒. “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา, เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม (หรือจงบำเพ็ญกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท)”205

เบื้องต้น ขอให้เข้าใจไว้ก่อนว่า ที่จริง พุทธพจน์ข้อแรกแสดงถึงสภาวะที่เป็นสัจจะ คือภาวะสงบสังขาร หมายถึงนิพพานนั่นเอง เป็นการบอกให้รู้ว่า นิพพานที่เป็นภาวะสงบสังขาร ไม่ต้องเปลี่ยนแปรขึ้นต่อการเกิดดับเสื่อมสลายอีกต่อไปนั้น เป็นภาวะที่เป็นสุข แต่พุทธพจน์ที่เป็นคาถาบทนี้เรานำมาพูดนำมาอ้างกันบ่อยมากจนอยู่ในประเพณีของคนทั่วไป (คือบทว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา ...”) เมื่อเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปจะให้เขาได้รับประโยชน์ ก็จึงมองความหมายซึ่งอิงนิพพาน ที่โยงมาสู่การปฏิบัติในแนวทางของความสงบสังขารที่คนทั่วไปเหล่านั้นจะพิจารณาได้ เป็นการชี้นัยที่เน้นคุณค่าทางจริยธรรม ดังจะกล่าวในที่นี้

พุทธพจน์ข้อที่ ๑ ชี้ถึงคุณค่าในด้านการวางใจต่อสังขาร คือโลกและชีวิต ให้รู้เท่าทันว่า สิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นสภาพปรุงแต่ง ล้วนไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ต้องเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไป ไม่อาจคงสภาพเดิมอยู่ได้ มิใช่ตัวตนที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปได้ตามความปรารถนา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย และเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะมีท่าทีของจิตใจที่ถูกต้อง ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย แม้สิ่งทั้งหลายที่พบเห็นเกี่ยวข้องจะแปรปรวนเสื่อมสลายพลัดพรากสูญหายไป จิตใจก็ไม่ถูกครอบงำย่ำยีบีบคั้น ยังคงปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบานอยู่ได้ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมดา พาให้ถึงความสงบ คุณค่าข้อนี้เน้นความหลุดพ้นเป็นอิสระของจิตใจ เป็นระดับโลกุตระ เรียกง่ายๆ ว่า คุณค่าด้านการทำจิต

พุทธพจน์ข้อที่ ๒ ชี้ถึงคุณค่าในด้านการปฏิบัติกิจหน้าที่ เพื่อความมีชีวิตที่เรียกว่าเป็นอยู่หรือดำเนินไปอย่างถูกต้องดีงามในโลก อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น และเพื่อให้เข้าถึงบรมธรรมที่เป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต โดยให้รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งชีวิตและโลก ล้วนเกิดจากองค์ประกอบทั้งหลายประมวลกันขึ้น ดำรงอยู่ได้ชั่วคราว ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความบีบคั้น กดอัดขัดแย้งแฝงอยู่


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง