| |
๑. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย  |   |  

วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ พิจารณาปรากฏการณ์ที่เป็นผล ให้รู้จักสภาวะที่เป็นจริง หรือพิจารณาปัญหา หาหนทางแก้ไข ด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา อาจเรียกว่า วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา หรือคิดตามหลักปฏิจจสมุปบาท จัดเป็นวิธีโยนิโสมนสิการแบบพื้นฐาน ดังจะเห็นว่า บางครั้งท่านใช้บรรยายการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ไม่เฉพาะเริ่มจากผล สืบค้นโดยสาวไปหาสาเหตุและปัจจัยทั้งหลายเท่านั้น ในการคิดแบบอิทัปปัจจยตานั้น จะตั้งต้นที่เหตุแล้วสาวไปหาผล หรือจับที่จุดใดๆ ในกระแส หรือในกระบวนธรรม แล้วค้นไล่ตามไปทางปลาย หรือสืบย้อนมาทางต้น ก็ได้

วิธีนี้กล่าวตามบาลี พบแนวปฏิบัติ ดังนี้

ก. คิดแบบปัจจัยสัมพันธ์ โดยอริยสาวกโยนิโสมนสิการการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน จึงเกิดขึ้น ดังที่ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย การที่ปุถุชนผู้ขาดสุตะ จะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ โดยความเป็นอัตตา ยังดีกว่า แต่การจะเข้าไปยึดถือเอาจิต โดยความเป็นอัตตา หาควรไม่

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ที่ดำรงอยู่ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง ร้อยปีบ้าง ยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง ยังปรากฏ, แต่สิ่งที่เรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง นั้น เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ดับไปอย่างหนึ่ง ทั้งคืน ทั้งวัน

“ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีสุตะ ย่อมมนสิการโดยแยบคาย เป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาท ในกองมหาภูตนั้นว่า เพราะดังนี้ๆ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ;

“อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา จึงเกิดสุขเวทนาขึ้น, เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นดับไป สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้น ก็ย่อมดับ ย่อมสงบไป; อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา จึงเกิดทุกขเวทนาขึ้น, เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นดับไป ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้น ก็ย่อมดับ ย่อมสงบไป; อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งเวทนาที่ไม่สุขไม่ทุกข์ จึงเกิด อทุกขมสุขเวทนาขึ้น, เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นดับไป อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้น ก็ย่อมดับ ย่อมสงบไป.

“ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม้สองอันครูดสีกัน จึงเกิดไออุ่น เกิดความร้อน แต่ถ้าแยกไม้ทั้งสองอันนั้นแหละ ออกเสียจากกัน ไออุ่นซึ่งเกิดจากการครูดสีกันนั้น ก็ดับไป สงบไป แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา จึงเกิดสุขเวทนาขึ้น, เพราะผัสสะอันเป็น ที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นดับไป สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้น ก็ย่อมดับ ย่อมสงบไป”1306


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |