ไปยังหน้า : |
• มหาโกฏฐิตะ: ท่านสารีบุตร ภิกษุผู้มีศีล ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?
พระสารีบุตร: ท่านโกฏฐิตะ ภิกษุผู้มีศีล ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ปัจจัยบีบคั้นได้ (ทุกข์) เป็นดังโรค (ซึ่งต้องคอยดูแล) เป็นดังฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคอยก่อความเดือดร้อน เป็นที่ทำให้ข้องขัดไม่สบาย เป็นดังคนพวกฝ่ายอื่น เป็นสิ่งที่จะต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่า ไม่มีสาระจริง ไม่เป็นอัตตา...มีฐานะเป็นไปได้ที่ เมื่อภิกษุผู้มีศีล โยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ จะพึงประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล
พระมหาโกฏฐิตะ: ภิกษุโสดาบันล่ะท่าน ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?
พระสารีบุตร: แม้ภิกษุที่เป็นโสดาบัน ก็ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ มีฐานะเป็นไปได้ที่ เมื่อภิกษุโสดาบันโยนิโสมนสิการ...(อย่างนี้) จะพึงประจักษ์แจ้งสกทาคามิผล
พระมหาโกฏฐิตะ: ภิกษุสกทาคามีล่ะท่าน ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?
พระสารีบุตร: แม้ภิกษุที่เป็นสกทาคามี ก็ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ มีฐานะเป็นไปได้ที่ เมื่อภิกษุสกทาคามีโยนิโสมนสิการ...(อย่างนี้) จะพึงประจักษ์แจ้งอนาคามิผล
พระมหาโกฏฐิตะ: ภิกษุอนาคามีล่ะท่าน ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?
พระสารีบุตร: แม้ภิกษุที่เป็นอนาคามี ก็ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ มีฐานะเป็นไปได้ที่ เมื่อภิกษุอนาคามีโยนิโสมนสิการ...(อย่างนี้) จะพึงประจักษ์แจ้งอรหัตตผล
พระมหาโกฏฐิตะ: พระอรหันต์ล่ะท่าน ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?
พระสารีบุตร: แม้พระอรหันต์ก็ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้นแหละ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ, พระอรหันต์ไม่มีกิจซึ่งจะต้องทำยิ่งขึ้นไปอีก หรือจะต้องสั่งสมกิจที่กระทำไว้แล้ว (ก็จริง) ก็แต่ว่าธรรมเหล่านี้ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรม-สุขวิหาร (การมีที่พักใจอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) และเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ” 972