ไปยังหน้า : |
กุศล และอกุศล แปลกันโดยทั่วไปว่าดีและชั่วหรือไม่ดี ก็จริง แต่แท้จริงแล้ว หาตรงกันทีเดียวไม่สภาวะบางอย่างเป็นกุศล แต่อาจจะไม่เรียกว่าดีในภาษาไทย สภาวะบางอย่างอาจเป็นอกุศล แต่ในภาษาไทยก็ไม่เรียกว่าชั่ว ดังจะเห็นต่อไป
กุศล และอกุศล เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นในจิตใจและมีผลต่อจิตใจก่อน แล้วจึงมีผลต่อบุคลิกภาพและแสดงผลนั้นออกมาภายนอก ความหมายของกุศลและอกุศลจึงเพ่งไปที่พื้นฐานคือเนื้อหาสาระและความเป็นไปภายในจิตใจเป็นหลัก
“กุศล” แปลตามศัพท์ว่า ฉลาด ชำนาญ สบาย เอื้อหรือเกื้อกูล เหมาะ ดีงาม เป็นบุญ คล่องแคล่วตัดโรคหรือตัดสิ่งชั่วร้ายที่น่ารังเกียจ
ส่วน“อกุศล”ก็แปลว่า สภาวะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล หรือตรงข้ามกับกุศล เช่นว่า ไม่ฉลาด ไม่สบาย เป็นต้น
ความหมายเชิงอธิบายในทางธรรมของกุศล ที่ถือได้ว่าเป็นหลักมี ๔ อย่างคือ
๑. อาโรคยะ ความไม่มีโรค คือสภาพจิตที่ไม่มีโรค อย่างที่นิยมเรียกกันบัดนี้ว่า สุขภาพจิต หมายถึง สภาวะหรือองค์ประกอบที่เกื้อกูลแก่สุขภาพจิต ทำให้จิตไม่ป่วยไข้ ไม่ถูกบีบคั้น ไม่กระสับกระส่าย ไม่โทรม ไม่อ่อนแอเป็นจิตแข็งแรง คล่องแคล่ว สบาย ใช้งานได้ดี เป็นต้น
๒. อนวัชชะ ไม่มีโทษหรือไร้ตำหนิ แสดงถึงภาวะที่จิตสมบูรณ์ ไม่บกพร่อง ไม่เสียหาย หรือไม่มีของเสีย ไม่มัวหมอง ไม่ขุ่นมัว สะอาด เกลี้ยงเกลา เอี่ยมอ่อง ผ่องแผ้ว เป็นต้น