ไปยังหน้า : |
ตามปรกติ มนุษย์ปุถุชนทุกคน เมื่อประสบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออยู่ในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะแปลความหมาย ตัดสินสิ่งหรือเหตุการณ์นั้น พร้อมทั้งคิดหมายตั้งเจตจำนง แสดงออกซึ่งพฤติกรรมและกระทำการต่างๆ ตามความโน้มเอียง หรือตามแรงผลักดันต่อไปนี้ คือ
๑. ความใฝ่ในการสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ (กาม)
๒. ความใฝ่หรือห่วงในความมีอยู่คงอยู่ของตัวตน ตลอดจนการที่ตัวตนจะได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และการที่จะดำรงอยู่ในภาวะที่อยากเป็นนั้นยั่งยืนตลอดไป (ภพ)
๓. ความเห็น ความเชื่อถือ ความเข้าใจ ทฤษฎี แนวคิด ที่สั่งสมอบรมมา และยึดถือเชิดชูไว้ (ทิฏฐิ)
๔. ความหลง ความไม่เข้าใจ คือ ความไม่ตระหนักรู้ และไม่กำหนดรู้ ความเป็นมาเป็นไป เหตุ ผล ความหมาย คุณค่า วัตถุประสงค์ ตลอดจนความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ทั้งหลายตามสภาวะโดยธรรมชาติของมันเอง ความหลงผิดว่ามีตัวตนที่เข้าไปกระทำและถูกกระทำกับสิ่งต่างๆ ไม่มองเห็นความสัมพันธ์ทั้งหลายในรูปของกระบวนการแห่งสภาวธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย พูดสั้นๆ ว่า ไม่รู้เห็นตามที่มันเป็น แต่รู้เห็นตามที่คิดว่ามันเป็น หรือคิดให้มันเป็น (อวิชชา)