| |
๗) กรรม ตามสมมตินิยาม หรือ กรรม ในกฎมนุษย์  |   |  

เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกัน เป็นหมู่คน เป็นชุมชน เป็นสังคม มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทำการร่วมกัน ก็ต้องมีการติดต่อสื่อสาร และด้วยความฉลาดของมนุษย์ ก็มีการตั้งข้อรู้ร่วม และสร้างเครื่องรู้ร่วมขึ้นมา โดยมีการยอมรับร่วมกัน ร่วมรู้ ร่วมเข้าใจ และร่วมกันถือตาม ปฏิบัติตาม

ข้อรู้ร่วม ที่ตกลงกัน พร้อมกันยอมรับ หรือยอมรับด้วยกัน คือมติร่วม หรือ “สมมติ” นี้ เป็นหัวใจ เป็นแกน เป็นสาระของสังคม ที่จะให้สังคมดำรงอยู่ ดำเนินไป มีความเจริญก้าวหน้างอกงาม จนถึงขั้นที่เรียกว่ามีวัฒนธรรม มีอารยธรรม พูดกลับกันว่า อารยธรรมของมนุษย์ ก็ตั้งอยู่บนสมมุติ หรือสมมตินี้เอง

ข้อตกลง ข้อรู้ร่วม หรือสมมติแรก ที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งทำให้มนุษย์ติดต่อสื่อสารกันได้ ก็คือ ข้อรู้ร่วม หรือข้อตกลงเพื่อสื่อในการพูด เกิดเป็นถ้อยคำ คำพูดจา ภาษา เป็นทางหรือสื่อของการตอบโต้ แลกเปลี่ยน คือโวหาร แล้วก็มีการบัญญัติต่างๆ สำหรับเรียกขาน บนฐานของสมมตินั้น

มนุษย์ผู้ฉลาด มิใช่หยุดแค่นั้น นอกจากข้อร่วมรู้ ให้รู้ร่วมกันตามคำพูดจา ว่านี่ชื่อนั้นๆ นั่นเรียกว่าอย่างนั้นๆ แล้ว อาศัยภาษานั้น เขาก็บัญญัติ จัดตั้งข้อตกลงร่วมรู้เพื่อสื่อในการทำ วางเป็นข้อร่วมทำ สำหรับให้พร้อมกันทำตาม ร่วมกันทำตาม ร่วมกันปฏิบัติตาม เป็นกติกา กลายเป็น นิติ คือแบบแผน เครื่องนำการปฏิบัติ เกิดเป็นข้อบัญญัติ ที่เรียกว่า ระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ ตลอดจนกฎหมาย

นอกจากบัญญัติจัดวางข้อร่วมทำ ร่วมปฏิบัติ หรือข้อที่พร้อมกันถือไปปฏิบัติตามแล้ว ก็มีบัญญัติต่อไปอีกว่า ถ้าใครไม่ปฏิบัติตาม เขาจะถูกกระทำโดยสังคมอย่างไร เรียกรวบรัดว่าถูกอำนาจบังคับ ถูกลงโทษ

แล้วเพื่อให้บัญญัติมีผลบังคับจริงตามที่ตกลง ก็มีการตกลงกันตั้ง หรือยอมรับร่วมกัน ให้มีบุคคลตลอดจนระบบที่ดูแลกำกับให้การเป็นไปตามบัญญัตินั้น เกิดมีเป็นการปกครองขึ้น


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง