| |
๒. สังขารในขันธ์ ๕ กับ สังขารในไตรลักษณ์  |   |  

ในภาษาไทย มีตัวอย่างมากมายที่คำพูดหรือคำศัพท์เดียวกัน แต่มีความหมายต่างกันหลายอย่าง ที่ต่างกันเล็กน้อย ยังมีเค้าความหรือลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงหรือพอเทียบเคียงกันได้ ก็มี ที่ต่างกันห่างไกลจนไม่มีอะไรเทียบหรือโยงถึงกันเลย ก็มี เช่น “กลอน” หมายถึงคำประพันธ์ประเภทหนึ่งก็ได้ หมายถึง ไม้ขัดหรือลูกสลักประตูหน้าต่าง ก็ได้ หมายถึง ลูกตุ้มที่ใช้เป็นอาวุธ ก็ได้

“เขา” ที่หมายถึงเนินอันสูงขึ้นไปบนพื้นดิน และ “เขา” ที่หมายถึงส่วนของกายมีลักษณะแข็ง ที่งอกออกมาจากหัวสัตว์บางพวก กล่าวได้ว่ามีลักษณะคล้ายกันอยู่บ้าง แต่ “เขา” ที่เป็นสรรพนามบุรุษที่สาม กับ “เขา” ที่เป็นชื่อนกพวกหนึ่ง คงพูดได้ยากว่ามีอะไรใกล้เคียงหรือเทียบคล้ายกันได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เข้าใจความหมายนัยต่างๆ ของถ้อยคำดีแล้ว และได้ยินได้ฟังได้ใช้อยู่จนเคยชิน เมื่อพบคำเช่นนั้น ที่มีผู้ใช้พูดใช้เขียนในข้อความต่างๆ ตามปกติจะแยกได้ไม่ยากว่า คำนั้น ที่ใช้ในข้อความนั้น มีความหมายอย่างไร โดยมากจะเข้าใจได้ทันที ตัวอย่างเช่น “จะเย็บผ้าได้ ก็ต้องใช้เข็ม จะสร้างบ้านใหญ่ ท่านให้ลงเข็ม” “เขาขึ้นเขาตามล่ากวางเพื่อเอาเขา” “หญิงชราไปในเรือเดินทะเล พอได้ยินว่าจะพบลมใหญ่ ก็จะเป็นลม” “เขาหักพวงมาลัยหลบเด็กขายพวงมาลัย” “อย่าทำล้อเล่น รถนี้มีแค่สองล้อ” “พอหนังจบ เขาก็รีบคว้ากระเป๋าหนังรุดไปที่ทำงาน” “ตายังตาดี แต่ฟันไม่ดี” “กาน้ำนั้นหากินในน้ำ กาน้ำนี้คนขายกาแฟใช้หากิน” “เพราะเสียดสี จึงเสียสี” “ร่วงโรจไม่ร่วงโรย” ดังนี้ เป็นต้น

ในภาษาบาลีก็เช่นเดียวกัน มีศัพท์มากมายที่มีความหมายหลายนัย ผู้ได้เล่าเรียนดีแล้ว แม้พบศัพท์เหล่านั้นที่ใช้ในความหมายหลายอย่างปะปนกันอยู่ ก็สามารถจับแยกและเข้าใจได้ทันที แต่ผู้ไม่คุ้นเคยหรือผู้แรกศึกษาอาจสับสนงุนงงหรือถึงกับเข้าใจผิดได้

ตัวอย่างคำจำพวกนี้ ที่มาจากภาษาบาลี เช่น “นาค” อาจหมายถึงสัตว์คล้ายงูแต่ตัวใหญ่มาก ก็ได้ หมายถึงช้างใหญ่เจนศึก ก็ได้ หมายถึงบุคคลผู้ประเสริฐ ก็ได้ “นิมิต” ในทางพระวินัย หมายถึง วัตถุที่เป็นเครื่องหมายเขตที่ประชุมสงฆ์บ้าง หมายถึงอาการแสวงหาลาภในทางที่ผิดด้วยวิธีขอเขาแบบเชิญชวนโดยนัย บ้าง แต่ในทางธรรมปฏิบัติ หมายถึงภาพที่เห็นในใจในการเจริญกรรมฐานนิกาย” หมายถึง หมวดตอนในพระไตรปิฎกส่วนพระสูตร ก็ได้ หมายถึง คณะนักบวชหรือกลุ่มศาสนิกที่แบ่งกันเป็นพวกๆ ก็ได้ “ปัจจัย” ในทางพระวินัย หมายถึงเครื่องอาศัยของชีวิต เช่น อาหาร แต่ในทางธรรม หมายถึง เหตุ หรือเครื่องสนับสนุนให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น

ขอให้พิจารณาความหมายของคำศัพท์เดียวกัน ที่ต่างนัยกันออกไป เมื่อใช้ในข้อความต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ “ภิกษุรู้รสด้วยลิ้น อร่อยก็ตาม ไม่อร่อยก็ตาม เธอไม่ปล่อยให้ความติดใจหรือความขัดใจเข้าครอบงำจิต ภิกษุนี้ชื่อว่าสำรวมอินทรีย์ คือลิ้น” “อินทรีย์คือศรัทธา มีการยังธรรมทั้งหลายที่ประกอบอยู่ด้วยให้เข้าถึงภาวะผ่องใสเป็นรส ประดุจดังสารส้ม หรือมีการวิ่งแล่นไปหาอารมณ์เป็นรส ภิกษุพึงเจริญอินทรีย์คือศรัทธานั้น” คำว่า รส ก็ดี อินทรีย์ ก็ดี ในข้อความ ๒ ท่อนนี้ มีความหมายต่างกัน ในข้อความแรก รส หมายถึงสิ่งที่รู้ด้วยลิ้น หรือสิ่งที่เป็นอารมณ์ของชิวหาวิญญาณ อินทรีย์หมายถึงสิ่งที่เป็นเจ้าการในการรับรู้อารมณ์ กล่าวคืออายตนะภายใน ส่วนในข้อความหลัง รส หมายถึงกิจหรือหน้าที่อินทรีย์หมายถึงกุศลธรรมที่เป็นเจ้าการในการกำราบอกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง