| |
ความต้องการ คืออะไร และสำคัญอย่างไร  |   |  

ศัพท์ธรรมสำหรับความอยากหรือความต้องการนี้ ค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเล็กน้อย

ขอยกพุทธพจน์มาดูกันอีกครั้งหนึ่ง คือที่ตรัสว่า “ฉนฺทมูลกา สพฺเพ ธมฺมา” (ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล หรือเป็นราก เป็นฐาน เป็นต้นตอ)

คำสำคัญคือ “ฉันทะ” แปลว่า ความต้องการ หรือความอยาก จะแปลว่าความปรารถนา ที่เป็นคำบาลีว่า “ปตฺถนา” ก็ได้

ที่ว่าซับซ้อน ก็คือ เริ่มแรก “ฉันทะ” ความต้องการ หรือความอยากนี้ ในขั้นพื้นฐาน เป็นคำกลางๆ ใช้ใน ทางดีก็ได้ ในทางร้ายก็ได้ เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ มีทั้ง กามฉันท์ เนกขัมมฉันท์ บริโภคฉันท์ ธรรมฉันท์ ฯลฯ

ในขั้นนี้ ท่านแยก “ฉันทะ” คือความต้องการนี้ ว่ามี ๒ อย่าง คือ

๑. ตัณหาฉันทะ แปลว่า ฉันทะคือตัณหา หรือฉันทะที่เป็นตัณหา (ฉันทะ คือความอยากได้ อยากเอา อยากเป็น อยากมี อยากมลาย)

๒. กัตตุกัมยตาฉันทะ แปลว่า ฉันทะคือกัตตุกัมยตา หรือฉันทะที่เป็นกัตตุกัมยตา (ฉันทะ คือความอยากทำ ใฝ่จะทำ ใฝ่สร้างสรรค์)

อย่างแรกเป็นฝ่ายร้าย เป็นอกุศลฉันทะ อย่างหลังเป็นฝ่ายดี เป็นกุศลฉันทะ ที่จริง อย่างนี้ก็ดูง่าย และก็ชัดดีอยู่ แต่ถ้อยคำยาวไปหน่อย เรียกยาก

ตรงนี้ก็มาถึงที่ซับซ้อน คือ ในเวลาแสดงธรรม อธิบายธรรม หรือพูดจาสื่อสารกันทั่วไป ก็อยากใช้คำที่สั้นๆ ง่ายๆ ในที่สุดก็ปรากฏผลออกมาว่า

- เวลาพูดถึงฉันทะ ที่อยากในทางไม่ดี เป็นอกุศล ก็ใช้คำเดียวไปเลยว่า “ตัณหา(ไม่ต้องพูดว่า ตัณหาฉันทะ)

- ถ้าจะพูดถึงฉันทะ ที่อยากในทางดี เป็นกุศล ก็ใช้คำเดียวไปเลยว่า “ฉันทะ” (ไม่ต้องไปพูดให้ยาวว่า กัตตุกัมยตาฉันทะ หรือกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ หรือสภาวฉันทะ ฯลฯ)

ตอนนี้ก็เลยพูดได้ง่าย สั้นนิดเดียว รู้เรื่องกันไป ไม่ต้องยืดยาดเยิ่นเย้อ พอบอกว่า “ตัณหา” ก็คือความอยากที่ไม่ดี (คือฉันทะฝ่ายอกุศลนั่นเอง) พอพูดว่า “ฉันทะ” ก็คือความอยากที่ดี (คือฉันทะฝ่ายกุศล หรือกัตตุกัมยตาฉันทะนั่นเอง)

ถ้าไม่รู้ที่ไปที่มา ก็จะงง ว่าคำไหนหมายถึงอะไร คำไหนดี คำไหนร้าย ก็สับสนยุ่งไปหมด เช่นไปเจอกามฉันทะ ก็งง ไหนว่าฉันทะเป็นฝ่ายดี ทำไมนี่ไม่ดีล่ะ ดังนี้เป็นต้น จึงต้องพูดทำความเข้าใจกันให้ชัด

ถึงตอนนี้ ก็สรุปได้ คือบอกว่า ความอยาก หรือความต้องการนั้น มี ๒ อย่าง คือ

๑. ตัณหา คือ ความอยากความต้องการที่เป็นอกุศล ได้แก่ อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเป็น อยากทำลาย

๒. ฉันทะ คือ ความอยากความต้องการที่เป็นกุศล ได้แก่ อยากทำ (ให้มันดี) ใฝ่ฝึก ใฝ่ศึกษา ใฝ่ปฏิบัติ ใฝ่จัดทำ ใฝ่สร้างสรรค์


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |