| |
สรุปความ เพื่อนำสู่การปฏิบัติ  |   |  

เมื่อได้กล่าวถึงวิธีคิดที่เป็นโยนิโสมนสิการมา ครบจำนวนที่ตั้งไว้แล้ว ขอย้ำความเบ็ดเตล็ดบางอย่างไว้เพื่อเสริมความเข้าใจอีกหน่อย

เท่าที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ถ้าตรวจดูขั้นตอนการทำงานของโยนิโสมนสิการ จะเห็นว่า โยนิโสมนสิการทำงานทั้ง ๒ ช่วง คือ ทั้งตอนรับรู้อารมณ์ หรือประสบการณ์จากภายนอก และตอนคิดค้นพิจารณาอารมณ์ หรือเรื่องราวที่เก็บเข้ามาแล้วในภายใน

ลักษณะที่พึงสังเกตอย่างหนึ่งของการรับรู้ด้วยโยนิโสมนสิการ คือ การรับรู้เพียงเพื่อเป็นความรู้ (ที่ถูกต้องตามเป็นจริง) และเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับสติจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและทำกิจต่างๆ ต่อไป

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า รับรู้ไว้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางสติปัญญา ไม่รับรู้ชนิดที่กลับผันแปรจากความรู้ ไปเป็นสิ่งกระทบกระทั่งติดค้างเปรอะเปื้อน ที่ก่อปัญหาแก่ชีวิตจิตใจ รับรู้ โดยจิตใจได้ความรู้จากอารมณ์หรือประสบการณ์ ไม่ใช่รับรู้แล้ว จิตใจถูกอารมณ์หรือประสบการณ์ครอบงำหรือล่อพาหลงหายไปเสีย ซึ่งแทนที่จะได้ความรู้มาแก้ปัญหา หรือได้ปัญญามาดับทุกข์ กลับได้กิเลสและความทุกข์มาเพิ่มพูนทับถมตน แม้การคิดก็มีลักษณะทำนองเดียวกันนี้ ลักษณะอย่างนี้ คือความหมายส่วนหนึ่งของการเป็นอยู่ด้วยปัญญา

อาจมีผู้เสียดายว่า ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา ดูจะปราศจากอารมณ์ (อารมณ์ ตามความหมายอย่างสมัยใหม่) มีแต่ความแห้งแล้ง ไร้รสชาติ

พึงชี้แจงว่า สำหรับปุถุชน การเป็นอยู่ด้วยอารมณ์ คอยจะครอบงำคนอยู่แล้วตลอดเวลา โยนิโสมนสิการมีแต่จะมาช่วยแบ่งเบาแก้ทุกข์ให้ปัญหาบรรเทาลง จึงไม่ต้องห่วงว่าจะขาดอารมณ์

ส่วนสำหรับผู้ใช้โยนิโสมนสิการสำเร็จผล จนพ้นความเป็นปุถุชนได้แล้ว ก็จะมีคุณภาพทางอารมณ์ใหม่อย่างบริสุทธิ์ เด่นชัดขึ้นมา กล่าวคือ เกิดคุณธรรมข้อกรุณา มาช่วยสืบต่อคุณค่าทางด้านความงดงามอ่อนโยนของชีวิตอยู่ต่อไป พร้อมทั้ง แทนที่ความขุ่นมัว หมองเศร้า เครียด เหงา กังวล เป็นต้น ก็จะมีแต่ความรู้สึกที่ประณีต เช่น ความสดชื่น ผ่องใส โปร่งโล่ง เบิกบานใจ ความสุข ความสงบ และความเป็นอิสระเสรี สืบต่อไป

มีข้อควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมที่เป็นบุพภาคแห่งมัชฌิมาปฏิปทา ๒ อย่าง คือ ปรโตโฆสะที่ดี หรือกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ นี้ เป็นจุดเชื่อมต่อ ระหว่างบุคคล กับโลก หรือสภาพแวดล้อมภายนอก ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ตัวมรรค ที่เป็นองค์ธรรมภายในเฉพาะตน

กล่าวคือ กัลยาณมิตร (ปรโตโฆสะที่ดี) เป็นที่เชื่อมให้บุคคลติดต่อกับโลกอย่างถูกต้อง โดยทางสังคม และโยนิโสมนสิการ เป็นที่เชื่อมให้บุคคลติดต่อกับโลกอย่างถูกต้อง โดยทางจิตใจของตนเอง อันได้แก่ท่าทีแห่งการรับรู้ และความคิด ซึ่งเป็นท่าทีแห่งปัญญา หรือการมองตามเป็นจริง ดังได้อธิบายมาแล้ว1406

วิธีโยนิโสมนสิการเท่าที่แสดงมานี้ ได้นำเสนอโดยพยายามรักษารูปร่างตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนา ผู้ศึกษาไม่พึงติดอยู่เพียงรูปแบบ หรือถ้อยคำ แต่พึงมุ่งจับเอาสาระเป็นสำคัญ

อนึ่ง พึงย้ำไว้ด้วยว่า โยนิโสมนสิการนี้ เป็นหลักธรรมภาคปฏิบัติ ที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกเวลา มิใช่จะต้องรอไว้ใช้ต่อเมื่อมีเรื่องที่จะเก็บเอาไปนั่งขบคิด หรือปฏิบัติได้ต่อเมื่อปลีกตัวออกไปนั่งพิจารณา แต่พึงใช้แทรกอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่เป็นไปอยู่ทุกที่ทุกเวลานี้เอง


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |