| |
๔. วิธีคิดแบบอริยสัจ/คิดแบบแก้ปัญหา  |   |  

วิธีคิดแบบอริยสัจ หรือ คิดแบบแก้ปัญหา เรียกตามโวหารทางธรรมได้ว่า วิธีแห่งความดับทุกข์ จัดเป็นวิธีคิดแบบหลักอย่างหนึ่ง เพราะสามารถขยายให้ครอบคลุมวิธีคิดแบบอื่นๆ ได้ทั้งหมด

บาลีที่พึงอ้างในข้อนี้ มีความสั้นๆ ดังนี้

“ภิกษุนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ว่า ทุกข์ คือดังนี้; ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า เหตุเกิดแห่งทุกข์ คือดังนี้; ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า ความดับแห่งทุกข์ คือดังนี้; ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับทุกข์ คือดังนี้;

“เมื่อเธอมนสิการโดยแยบคายอยู่อย่างนี้ สังโยชน์ ๓ อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ย่อมถูกละเสียได้”1320

วิธีคิดแบบอริยสัจนี้ มีลักษณะทั่วไป ๒ ประการ คือ

๑) เป็นวิธีคิดตามเหตุและผล หรือเป็นไปตามแหตุและผล1321 สืบสาวจากผลไปหาเหตุแล้ว แก้ไขและทำการที่ต้นเหตุ จัดเป็น ๒ คู่ คือ

คู่ที่ ๑: ทุกข์เป็นผล เป็นตัวปัญหา เป็นสถานการณ์ที่ประสบ ซึ่งไม่ต้องการ สมุทัยเป็นเหตุ เป็นที่มาของปัญหา เป็นตัวการ ที่ต้องกำจัดหรือแก้ไข จึงจะพ้นปัญหา

คู่ที่ ๒: นิโรธเป็นผล เป็นภาวะสิ้นปัญหา เป็นจุดหมาย ซึ่งต้องการจะเข้าถึง มรรคเป็นเหตุ เป็นวิธีการ เป็นข้อปฏิบัติ ที่ต้องกระทำในการแก้ไขสาเหตุ เพื่อบรรลุจุดหมาย คือภาวะสิ้นปัญหา อันได้แก่ความดับทุกข์

๒) เป็นวิธีคิดที่ตรงจุดตรงเรื่อง ตรงไปตรงมา มุ่งตรงต่อสิ่งที่จะต้องทำต้องปฏิบัติต้องเกี่ยวข้องของชีวิต ใช้แก้ปัญหา ไม่ฟุ้งซ่านออกไปในเรื่องฟุ้งเฟ้อ ที่สักว่าคิดเพื่อสนองตัณหามานะทิฏฐิ ซึ่งไม่อาจนำมาใช้ปฏิบัติ ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา1322

ได้กล่าวแล้วว่า วิธีคิดแบบนี้ รับกัน หรือต่อเนื่องกัน กับวิธีคิดแบบที่ ๓ กล่าวคือ เมื่อประสบปัญหาได้รับความทุกข์ และเมื่อสามารถวางใจวางท่าทีต่อสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องตามวิธีคิดแบบที่ ๓ ขั้นที่ ๑ แล้ว ต่อจากนั้น เมื่อจะปฏิบัติด้วยปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาตามวิธีปฏิบัติขั้นที่ ๒ ของวิธีการคิดแบบที่ ๓ นั้น พึงดำเนินความคิดในส่วนรายละเอียดขยายออกไปตามขั้นตอน อย่างที่แสดงในวิธีการคิดแบบที่ ๔ นี้

หลักการ หรือสาระสำคัญของวิธีคิดแบบอริยสัจ ก็คือ การเริ่มต้นจากปัญหา หรือความทุกข์ ที่ประสบ โดยกำหนดรู้ ทำความเข้าใจปัญหา คือความทุกข์นั้น ให้ชัดเจน แล้วสืบค้นหาสาเหตุเพื่อเตรียมแก้ไข ในเวลาเดียวกัน กำหนดเป้าหมายของตนให้แน่ชัดว่าคืออะไร จะเป็นไปได้หรือไม่ และเป็นไปได้อย่างไร แล้วคิดวางวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหา โดยสอดคล้องกับการที่จะบรรลุจุดหมายที่กำหนดไว้นั้น

ในการคิดตามวิธีนี้ จะต้องตระหนักถึงกิจ หรือหน้าที่ ที่พึงปฏิบัติต่ออริยสัจแต่ละข้ออย่างถูกต้องด้วย เพื่อให้มองเห็นเค้าความในเรื่องนี้ จะกล่าวถึงหลักอริยสัจ และวิธีปฏิบัติเป็นขั้นๆ โดยย่อ ดังนี้


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |