ไปยังหน้า : |
วิปลาส คือ ความรู้คลาดเคลื่อน ความรู้ที่ผันแปรผิดพลาดจากความเป็นจริง หมายถึง ความรู้คลาดเคลื่อนขั้นพื้นฐาน ที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด หลงผิด การลวงตัวเอง วางใจ วางท่าที ประพฤติ ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ต่อโลก ต่อชีวิต ต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง และเป็นเครื่องกีดกั้นขัดขวางบังตาไม่ให้มองเห็นสัจภาวะ วิปลาส มี ๓ อย่าง คือ
๑. สัญญาวิปลาส สัญญาคลาดเคลื่อน หมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริง
๒. จิตตวิปลาส จิตคลาดเคลื่อน ความคิดผิดพลาดจากความเป็นจริง
๓. ทิฏฐิวิปลาส ทิฏฐิคลาดเคลื่อน ความเห็นผิดพลาดจากความเป็นจริง
สัญญาวิปลาส หมายรู้คลาดเคลื่อน เช่น คนตกใจเห็นเชือกเป็นงู กาและกวางป่ามองหุ่นฟางสวมเสื้อกางเกงมีหม้อครอบ เห็นเป็นคนเฝ้านา คนหลงทางเห็นทิศเหนือเป็นทิศใต้ เห็นทิศใต้เป็นทิศเหนือ คนเห็นแสงไฟโฆษณากะพริบอยู่กับที่เป็นไฟวิ่ง เป็นต้น
จิตตวิปลาส ความคิดคลาดเคลื่อน เช่น คนบ้าคิดเอาหญ้าเป็นอาหารของตน คนจิตฟั่นเฟือนมองเห็นคนเข้ามาหาคิดว่าเขาจะทำร้าย คนเห็นเงาเคลื่อนไหวในที่มืดสลัวคิดวาดภาพเป็นผีหลอก กระต่ายตื่นตูมได้ยินเสียงลูกมะพร้าวหล่นคิดวาดภาพเป็นว่าโลกกำลังแตก เป็นต้น
ทิฏฐิวิปลาส ความเห็นคลาดเคลื่อน ตามปกติ สืบเนื่องมาจากสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสนั่นเอง เมื่อหมายรู้ผิดอย่างไร ก็เห็นผิดไปตามนั้น เมื่อคิดวาดภาพเคลื่อนคลาดไปอย่างไร ก็พลอยเห็นผิด เชื่อถือผิดพลาดไปตามอย่างนั้น เช่น เมื่อหมายรู้ผิดว่าเชือกเป็นงู ก็อาจลงความเห็นยึดถือว่าสถานที่บริเวณนั้นมีงูหรือมีงูชุม เมื่อหมายรู้ว่าผืนแผ่นดินเรียบราบขยายออกไปเป็นเส้นตรง ก็จึงลงความเห็นยึดถือว่าโลกแบน เมื่อคิดไปว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น เป็นไป เคลื่อนไหวต่างๆ ก็ต้องมีผู้จัดแจงผลักดัน ก็จึงลงความเห็นยึดถือว่า ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม มีเทพเจ้าประจำอยู่และคอยบันดาล ดังนี้เป็นต้น
ตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นชั้นหยาบที่เห็นง่ายๆ อาจเรียกอย่างภาษาพูดว่าเป็นความวิปลาสขั้นวิปริต ส่วนในทางธรรม ท่านมองความหมายของวิปลาสอย่างละเอียดถึงขั้นพื้นฐาน หมายถึงความรู้คลาดเคลื่อนชนิดที่มิใช่มีเฉพาะในบางคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่มีในคนทั่วไปแทบทั้งหมดอย่างไม่รู้ตัว คนทั้งหลายตกอยู่ใต้อิทธิพลครอบงำของมัน และวิปลาสทั้ง ๓ ชนิดนั้นจะสอดคล้องประสานกันเป็นชุดเดียว วิปลาสขั้นละเอียดหรือขั้นพื้นฐานนั้น พึงเห็นตามบาลีดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส มี ๔ อย่างดังนี้; สี่อย่างอะไรบ้าง? (กล่าวคือ)
๑. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งไม่เที่ยง ว่าเที่ยง
๒. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข
๓. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งมิใช่ตัวตน ว่าตัวตน
๔. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม”106