| |
ความสุข คืออะไร

เมื่อจะพัฒนาความสุข ก็มาดูความหมายของความสุขเสียก่อนว่า ความสุขมีความหมายว่าอย่างไร

ความสุข คือ การได้สนองความต้องการ หรือใช้ภาษาง่ายๆ ว่า คือ ความสมอยากสมปรารถนา

ขอทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า นี่ยังไม่ใช่ความหมายที่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ครอบคลุมในระดับพื้นฐานที่มีขอบเขตกว้างมาก เป็นความหมายที่สำคัญอย่างยิ่ง ความสุขที่คนทั่วๆ ไป รู้จัก ก็อยู่แค่ความหมายนี้

เราอยากอาบน้ำแล้ว ได้อาบน้ำ ก็มีความสุข อยากรับประทานอะไรแล้ว ได้รับประทาน ก็มีความสุข เด็กอยากเล่นแล้ว ได้เล่น ก็มีความสุข นี่ก็คือได้สนองความต้องการ หรือสนองความอยากความปรารถนานั่นเอง2161

ตรงนี้ ขอแทรกเรื่องปัญหาทางภาษา เวลานี้ คำว่า “ต้องการ” กับ “ปรารถนา” กับ “อยาก” บางทีก็ต้องระวังการใช้ เนื่องจากในทางวิชาการสมัยใหม่บางสาขา มีการใช้โดยแยกความหมายให้แตกต่างกัน โดยเฉพาะระหว่างความต้องการ กับความอยาก ให้มีความหมายเป็นคนละอย่าง

สำหรับในที่นี้ จะใช้คำว่าต้องการกับปรารถนาแบบปนกันไปเลย ไม่แยก ให้เหมือนกับว่ามีความหมายอย่างเดียวกัน ถ้าเทียบกับคำภาษาอังกฤษ ให้ถือว่าเท่ากับ desire ทั้งนั้น

เมื่อบอกว่า ความสุข คือการได้สนองความต้องการ หรือการได้สมอยากสมปรารถนา เรื่องก็เลยโยงไปหาคำว่า ต้องการ หรือปรารถนา ซึ่งต้องมาทำความเข้าใจกัน

ความต้องการ หรือความปรารถนานี้ เป็นเรื่องใหญ่มาก ขอยกพุทธพจน์มาตั้งเป็นหลัก พระองค์ตรัสว่า “ฉนฺทมูลกา สพฺเพ ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล หมายความว่า เรื่องของมนุษย์ทุกสิ่งทุกอย่าง มีความต้องการเป็นมูล มีความอยากเป็นต้นทาง

เพราะฉะนั้น

๑. เราจะต้องทำความเข้าใจเรื่องความอยาก ความปรารถนา ความต้องการนี้ ให้ชัดเจน

๒. ในเมื่อความสุขเป็นการได้สนองความต้องการ หรือได้สนองความปรารถนา มันก็บ่งชี้ว่า การที่จะพัฒนาความสุขได้นั้น ก็ต้องพัฒนาความอยาก พัฒนาความปรารถนา หรือพัฒนาความต้องการด้วย มิฉะนั้น การพัฒนาความสุข ก็จะไม่สำเร็จ

เป็นอันว่า ความต้องการนี้ เป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนา

ก็จึงมาทำความเข้าใจเรื่องความต้องการ หรือความอยากกันต่อไป ขอให้ถือหลักความต้องการนี้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ควรไปหลบไปเลี่ยงที่จะศึกษามัน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |