| |
คำอธิบายแสดงความสัมพันธ์อย่างง่าย  |   |  

๑. อวิชชา เป็นปัจจัยแก่สังขาร: เพราะไม่รู้ตามเป็นจริง ไม่เห็นความจริง ไม่รู้ข้อเท็จจริง ไม่เข้าใจชัดเจน หรือไม่ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาในขณะที่ประสบสถานการณ์นั้นๆ จึงคิดปรุงแต่งไปต่างๆ เดาเอาบ้าง คิดวาดภาพเอาเองต่างๆ ฟุ้งเฟ้อวุ่นวายไปบ้าง นึกเห็นมั่นหมายไปตามความเชื่อ ความหวาดระแวง หรือแนวนิสัยของตนที่ได้สั่งสมไว้บ้าง ตลอดจนตั้งใจ คิดมุ่งหมายว่าจะเอาอย่างไรๆ จะพูดจะทำอะไรๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้น

๒. สังขาร เป็นปัจจัยแก่วิญญาณ: เมื่อมีเจตนาคิดมุ่งหมายตั้งใจ หรือใจเลือกที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งใด หรือรับรู้อะไรๆ จึงจะเกิดมีวิญญาณ คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส รู้คิดต่อเรื่องนั้นๆ สิ่งนั้นๆ โดยเฉพาะเจตนาจะชักจูงนำจิตนำวิญญาณให้รู้ไปตามคิด ให้รู้ไปกับการคิด ให้รับรู้ไปในเรื่องที่มันต้องการปรุงแต่งเรื่อยไปไม่รู้จักจบสิ้น และพร้อมกันนั้น มันก็จะปรุงแต่งสภาพพื้นเพของจิต หรือของวิญญาณนั้น ให้กลายเป็นจิตที่ดีงามหรือชั่วร้าย มีคุณธรรม ไร้คุณธรรม หรือมีคุณสมบัติต่างๆ ตามแต่เจตนาที่ดีหรือชั่วนั้นๆ ด้วย

๓. วิญญาณ เป็นปัจจัยแก่นามรูป: เมื่อมีวิญญาณที่รู้เห็นได้ยิน เป็นต้น ก็ต้องมีรูปธรรมและนามธรรมที่ถูกรู้ถูกเห็น เป็นต้น อยู่พร้อมไปด้วยกัน และเมื่อวิญญาณทำหน้าที่ รูปธรรมนามธรรมต่างๆ ที่เป็นตัวร่วมงานร่วมอาศัยกันของวิญญาณนั้น เช่น อวัยวะที่เกี่ยวข้อง เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย ต่างก็ต้องทำงานร่วมไปด้วยตามหน้าที่ ยิ่งกว่านั้น วิญญาณขณะนั้นถูกปรุงแต่งให้เป็นอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร นามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายที่แสดงตัวออกมาร่วมงานในขณะนั้นๆ ก็จะมีแต่จำพวกที่เป็นทำนองนั้น หรือพลอยมีคุณสมบัติอย่างนั้นไปด้วย เช่น เมื่อวิญญาณประกอบด้วยสังขารจำพวกโกรธเป็นตัวปรุงแต่ง สัญญาที่ออกโรงด้วยก็จะเป็นสัญญาเกี่ยวกับถ้อยคำหยาบคาย คำด่า ตลอดจนมีดพร้าอาวุธ เป็นต้น รูปธรรม เช่น หน้าตาก็จะบูดบึ้ง กล้ามเนื้อเขม็งเครียด เลือดไหลฉีดแรง เวทนาก็บีบคั้น เป็นทุกข์ เป็นต้น เมื่อวิญญาณเป็นไปในสภาพอย่างใดซ้ำบ่อย นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับสืบต่อก็จะก่อเป็นลักษณะกายใจจำเพาะตัวที่เรียกว่าบุคลิกภาพอย่างนั้น

๔. นามรูป เป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ: เมื่อนามรูปตื่นตัวทำงานพร้อมอยู่ในรูปแบบ ลักษณะ หรือทิศทาง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น มันจำต้องอาศัยบริการของอายตนะใดๆ เป็นสื่อป้อนความรู้หรือเป็นช่องทางดำเนินพฤติกรรม อายตนะนั้นๆ ก็จะถูกปลุกเร้าให้พร้อมในการทำหน้าที่

๕. สฬายตนะ เป็นปัจจัยแก่ผัสสะ: เมื่ออายตนะต่างๆ มี ผัสสะคือการรับรู้รับอารมณ์ด้านต่างๆ เหล่านั้น จึงมีได้ เมื่ออายตนะใดทำหน้าที่ ก็มีผัสสะคือการรับรู้รับอารมณ์โดยอาศัยอายตนะนั้นได้

๖. ผัสสะ เป็นปัจจัยแก่เวทนา: เมื่อมีการรับรู้รับอารมณ์แล้ว ก็ต้องมีความรู้สึกที่เป็นเวทนาอย่างใด อย่างหนึ่ง ไม่สุขสบาย ก็ทุกข์ ไม่สบาย หรือไม่ก็เฉยๆ

๗. เวทนา เป็นปัจจัยแก่ตัณหา: เมื่อรับรู้อารมณ์ใด ได้ความสุขสบายชื่นใจ ก็ชอบใจ ติดใจ อยากได้อารมณ์นั้น เกิดเป็นกามตัณหา อยากคงอยู่อยากเข้าอยู่ในภาวะที่จะได้ครอบครองเสวยสุขเวทนาจากอารมณ์นั้น เกิดเป็นภวตัณหา เมื่อรับรู้อารมณ์ใด เกิดความทุกข์บีบคั้นไม่สบาย ก็เกลียดชัง ขัดใจ อยากพรากอยากพ้น อยากกำจัด ทำให้สูญหายไป เกิดเป็นวิภวตัณหา ถ้ารู้สึกเฉยๆ ก็เรื่อยๆ ซึมๆ เพลินๆ อยู่ในโมหะ และติดได้อย่างเป็นสุขเวทนาอ่อนๆ พร้อมที่จะขยายออกเป็นความอยากได้สุขเวทนาต่อไป


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง