| |
ปัญญาและกรุณา ตัวกำกับและขับเคลื่อนการทำงานของมหาบุรุษ  |   |  

โยงกับความที่กล่าวมาแล้ว มีข้อที่ควรเน้น ซึ่งน่าจะแยกออกมาพูดให้ชัดยิ่งขึ้น กล่าวคือ ได้อธิบายให้เห็นว่า เมื่อปัญญาเกิดขึ้น มันมิได้เกิดลำพังตัวเปล่าๆ แต่พ่วงเอาคุณธรรมที่สำคัญๆ เกิดตามมาด้วย

เมื่อคนตกอยู่ใต้อวิชชา ไม่ใช้ความรู้ อยู่ด้วยความรู้สึก ก็ปล่อยให้ตัณหาพาไป และพึ่งตัณหาพาให้ทำอะไรๆ แต่พอปัญญาพัฒนาขึ้นมา ฉันทะได้โอกาส พร้อมทั้งมีกำลังมากขึ้น ก็เข้ามานำการกระทำของคน ให้ไม่ต้องมึนมัวมั่วหมกอยู่ใต้โมหะและตัณหา แต่ก้าวขึ้นมาสู่การมีชีวิตที่ดำเนินไปด้วยปัญญา โดยมีฉันทะสนองงาน และมิใช่เท่านั้น ฉันทะยังส่งแรงขับเคลื่อนออกมาทางคุณธรรมต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความดีงามความสมบูรณ์สมความมุ่งหมาย โดยเฉพาะคุณธรรมที่เด่นในการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคนสัตว์ คือกรุณา ดังที่ได้พูดพาดพิงไว้

เพื่อเชื่อมความ ขอทบทวนสาระตามหลักการว่า เมื่อเกิดปัญญารู้เข้าใจมองเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลายลึกซึ้งกว้างขวางออกไป ก็ดี มองเห็นภาวะดีงามและคุณค่าของสิ่งทั้งหลายนั้นๆ ก็ดี ถ้าไม่ปล่อยให้ตัณหาแทรกเข้ามาชิงตัดหน้ารับช่วงไปเสียก่อน ก็ย่อมจะต้องเกิดมีฉันทะ รู้สึกซาบซึ้ง มีใจโน้มน้อมไปหาคุณค่าและภาวะดีงาม พร้อมทั้งอยากให้สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่ในภาวะที่ดีงามสมบูรณ์ของมัน

โดยนัยนี้ ถ้าสิ่งที่ประสบยังไม่บรรลุอุดมสภาวะและคุณค่าอันสมบูรณ์ ก็ย่อมเกิดมีฉันทะที่จะทำให้ดีให้สมบูรณ์ตามนั้น นี้เป็นกรณีเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายโดยทั่วไป

แต่ถ้าเป็นกรณีของสัตว์บุคคล ฉันทะที่เกิดขึ้น ก็จะแสดงออกในภาวะจิตที่มีชื่อพิเศษว่า เมตตา คือความรัก ความปรารถนาดี อยากให้สัตว์บุคคลอื่นดำรงอยู่ในภาวะดีงาม ประสบประโยชน์สุข บรรลุอุดมสภาวะของเขา คือความปลอดโปร่งโล่งสบาย ไม่มีอะไรบีบคั้นกายใจ

อย่างไรก็ตาม ความต้องการของฉันทะต่อสัตว์บุคคล คือการที่อยากให้เขาอยู่ในภาวะดีงามสมบูรณ์นั้น มิใช่แสดงออกมาเป็นเมตตาอย่างเดียว แต่แสดงออกแตกต่างไปตามสถานการณ์ที่สัตว์บุคคลนั้นประสบ

การที่ฉันทะแสดงออกเป็นเมตตา หรือไมตรี อยากให้เขาอยู่ดีมีความสุข ก็คือในสถานการณ์ที่เป็นปกติ แต่ถ้าเขาอยู่ในสถานการณ์อย่างอื่นที่เปลี่ยนไปจากปกติ ฉันทะก็แสดงความปรารถนาดีในลักษณะอาการที่ต่างออกไป และได้ชื่อต่างกันไปตามสถานการณ์นั้นๆ

ถ้านับสถานการณ์ปกติที่จะมีเมตตานั้น เป็นที่ ๑ สถานการณ์ที่ ๒ ก็ได้แก่คราวที่สัตว์บุคคลนั้นตกต่ำลงไปจากปกติ คือเกิดความเดือดร้อนเป็นทุกข์ เช่น เจ็บไข้ ขาดแคลน ในสถานการณ์ที่ ๒ นี้ ฉันทะที่อยากให้เขาดีงามสมบูรณ์ ก็แสดงออกเป็น กรุณา คือภาวะที่พลอยมีใจหวั่นไหว อยากแก้ไข คิดช่วยเหลือให้เขาพ้นจากทุกข์

ต่อไปเป็นสถานการณ์ที่ ๓ คือยามที่ผู้อื่นนั้นขึ้นสูงกว่าเดิมที่เป็นปกติ อย่างที่เรียกว่าได้ดีมีสุข เช่น เรียนจบ ได้งาน หายป่วย เลิกกินเหล้า หันมาทำความดี คราวนี้ฉันทะที่อยากให้เขาดีงามสมบูรณ์ ก็ให้สมใจ จึงมี มุทิตา คือพลอยยินดี อนุโมทนา ส่งเสริม หรือช่วยสนับสนุน อยากให้เขาดีงามเจริญก้าวหน้าดียิ่งขึ้นไป

สถานการณ์สุดท้าย คือที่ ๔ ข้อนี้พิเศษ คือ เมื่อผู้นั้นรับผิดชอบตัวเองได้ หรือเขาควรรับผิดชอบตนเอง เป็นความสมควรที่จะเป็นอย่างนั้น ที่เขาจะอยู่หรือดำเนินไปในภาวะนั้น เราไม่ควรยุ่งด้วย เช่น ในกระบวนการยุติธรรม และในการฝึกคน ดังที่พ่อแม่รัก อยากให้ลูกเจริญงอกงาม ดูแลลูกเล็กที่กำลังหัดเดินเตาะแตะ ก็วางทีเฉยดูอยู่ใกล้ๆ ให้เขาหัดเดินไป โดยพร้อมที่จะแก้ไขถ้ามีอะไรพลาดพลั้ง แต่ไม่ใช่มัวสงสารกลัวจะล้มจะเจ็บ แล้วคอยอุ้มอยู่เรื่อย การวางทีเฉยดู โดยรู้เข้าใจ ไม่เข้าไปวุ่นวายก้าวก่ายแทรกแซงนี้ เรียกว่า อุเบกขา 2077


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |