| |
ความเข้าใจพื้นฐาน

ก่อนจะขยายความในเรื่องศีล โดยเฉพาะที่จะเน้นหลักความประพฤติในระดับของประชาชน หรือชาวบ้านทั่วไป เห็นควรย้ำหลักกว้างๆ ที่ควรรู้ตระหนักไว้ อันจะช่วยให้ประพฤติปฏิบัติศีลในทุกระดับได้ถูกหลัก ตรงตามความมุ่งหมาย เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ

ผู้ประพฤติปฏิบัติรักษาศีลนั้น ตั้งแต่เริ่มแรก ควรมองเห็นความหมายของศีลที่ตนรักษาปฏิบัติโล่งสว่าง พร้อมทั้งตระหนักรู้ถึงความมุ่งหมายของการปฏิบัติ และมองเห็นศีลที่ตนรักษานั้นในระบบการศึกษาหรือระบบการฝึกอบรมพัฒนาชีวิตว่า ความงอกงามด้วยศีลนั้น สัมพันธ์กับการพัฒนาจิตใจและความเจริญปัญญา เกื้อหนุนสมาธิและญาณทัศนะ จะพาให้ปราศปัญหาปลอดทุกข์ ประสบผลที่เป็นประโยชน์สุขอย่างไรๆ ศีลจำเป็นสำหรับชีวิตและสังคมที่ดีงามมีความสุขอย่างไร

ดังที่ทราบกันดีว่า มรรค ที่เรียกเต็มว่า มรรคมีองค์ ๘ นั้น คือรวมข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา และองค์ ๘ ของมรรคนั้น ก็จัดได้เป็น ๓ ขันธ์ คือ ๓ หมวด ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา

ในเวลาจะฝึกปฏิบัติกันจริงจัง ก็ฝึกก็ศึกษากันใน ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่แหละ โดยจัดเป็นระบบการศึกษาที่เรียกว่า ไตรสิกขา แปลว่าสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เรียกง่ายๆ ก็ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา อีกนั่นแหละ

เป็นอันว่า การปฏิบัติ การฝึก การหัด การพัฒนาคน การดำเนินชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนปฏิปทาที่จะให้ถึงนิพพาน ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็อยู่ใน ๓ หมวดแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ที่มาจากมรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง

เมื่อจับหลักนี้ไว้ได้แล้ว เมื่อพูดถึงศีล ก็บอกว่า ศีลที่แท้ ที่จริง ที่ครบ ก็คือศีลที่มาจากมรรคมีองค์ ๘ นั้น คือ ศีลที่เป็นองค์ของมรรค และตามพุทธพจน์ที่ยกมาให้ดู ก็เห็นชัดแล้วว่า องค์มรรคที่เป็นหมวดศีล ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ นี้คือ ศีลที่จริง ที่แท้ ที่ครบบริบูรณ์

พุทธพจน์ข้างต้นนั้น แสดงความหมายของสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ แต่ละอย่างแยกแยะแบ่งข้อย่อยออกไป ทำให้เห็นได้ว่า สาระสำคัญของศีล คืออะไร ศีลที่เป็นองค์มรรค หรือศีลที่จำเป็นจริงๆ สำหรับชีวิตที่ดีงามมีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร ผู้รู้แต่โบราณนับข้อย่อยของศีลในองค์มรรคนี้ ที่แยกย่อยออกไปว่ามี ๘ ข้อ แล้วตั้งชื่อเรียกไว้ว่า “อาชีวัฏฐมกศีล” แปลว่า ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |