| |
๕. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์  |   |  

วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ 1325 หรือคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย คือพิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ธรรม กับ อรรถ หรือ หลักการ กับ ความมุ่งหมาย เป็นความคิดที่มีความสำคัญมาก ในเมื่อจะลงมือปฏิบัติธรรม หรือทำการตามหลักการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลตรงตามความมุ่งหมาย ไม่กลายเป็นการกระทำที่เคลื่อนคลาด เลื่อนลอย หรืองมงาย

“ธรรม” แปลว่า หลัก หรือหลักการ คือ หลักความจริง หลักความดีงาม หลักการปฏิบัติ หรือหลักที่จะเอาไปใช้ปฏิบัติ รวมทั้งหลักคำสอนที่จะให้ประพฤติปฏิบัติ และกระทำการได้ถูกต้อง

“อรรถ” (อัตถะ ก็เขียน) แปลว่า ความหมาย ความมุ่งหมาย จุดหมาย ประโยชน์ที่ต้องการ หรือสาระที่พึงประสงค์

ในการปฏิบัติธรรม หรือกระทำการตามหลักการใดๆ ก็ตาม จะต้องเข้าใจความหมาย และความมุ่งหมายของธรรมหรือหลักการนั้นๆ ว่า ปฏิบัติ หรือทำไปเพื่ออะไร ธรรม หรือหลักการนั้น กำหนดวางไว้เพื่ออะไร จะนำไปสู่ผลหรือที่หมายใดบ้าง ทั้งจุดหมายสุดท้ายปลายทาง และเป้าหมายท่ามกลางในระหว่าง ที่จะส่งทอดต่อไปยังธรรมหรือหลักการข้ออื่นๆ

ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องหลักการ และความมุ่งหมายนี้ นำไปสู่การปฏิบัติถูกต้องที่เรียกว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ

ธรรมานุธรรมปฏิบัติ หรือ ธัมมานุธัมมปฏิบัติ แปลอย่างสืบๆ กันมาว่า “ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” แปลตามความหมายว่า ปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่ หรือปฏิบัติธรรมหลักย่อยคล้อยตามหลักใหญ่ แปลง่ายๆ ว่าปฏิบัติธรรมถูกหลัก คือ ทำให้ข้อปฏิบัติย่อย เข้ากันได้ สอดคล้องกัน และส่งผลแก่หลักการใหญ่ เป็นไปเพื่อจุดหมายที่ต้องการ1326

ธรรมานุธรรมปฏิบัติ เป็นสิ่งสำคัญมาก อาจเรียกได้ว่า เป็นตัวตัดสินว่า การปฏิบัติธรรม หรือการกระทำนั้นๆ จะสำเร็จผลบรรลุจุดมุ่งหมายได้หรือไม่


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |