| |
บนฐานแห่งมัชเฌนเทศนา วางปฏิบัติการที่เป็นมัชฌิมา

ดังได้เล่าแล้วเมื่อเริ่มภาคแรกว่า ภายใต้ร่มมหาโพธิ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้ว หลังจากเสวยวิมุตติสุข ๑ สัปดาห์ ได้เสด็จออกจากสมาธิ แล้วทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ที่ได้ตรัสรู้นั้น ตลอดเวลา ๓ ยามแห่งราตรี

ต่อมา เมื่อสิ้นระยะเสวยวิมุตติสุข ๗ สัปดาห์แล้ว เมื่อปรารภการที่จะทรงประกาศธรรมสั่งสอนประชาชนต่อไป ทรงพระดําริว่า

ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นของลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก... ฐานะนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท; แม้ฐานะนี้ก็เห็นได้ยาก กล่าวคือ...นิพพาน*12

เมื่อทรงพระดําริดังนี้แล้ว ก็น้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่เสด็จไปสั่งสอนธรรม แต่หลังจากนั้น ทรงมองเห็นว่า ในหมู่สัตว์คือประชาชนเหล่านั้น พวกที่ในดวงตามีธุลีน้อย ก็มีอยู่ คนพวกนี้จะเข้าใจได้ ถ้าไม่ได้สดับธรรมก็จะเสื่อมเสียประโยชน์ไป และทรงมองดูหมู่สัตว์คือมวลมนุษย์ซึ่งมีอินทรีย์อ่อนแก่ต่างๆ กัน เหมือนในกอบัวซึ่งมีดอกบัวในระยะต่างๆ บางส่วนขึ้นพ้นน้ำ รอสัมผัสแสงอาทิตย์ ก็จะบานในวันนี้ บางส่วนอยู่เสมอน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้ ส่วนดอกบัวที่ยังอยู่ในน้ำ ก็จักบานในวันต่อๆ ไป (พระพุทธเจ้าตรัสบัวไว้ ๓ เหล่านี้ แต่ในอรรถกถามีเหล่าที่ ๔ เพิ่มเข้ามา คือดอกบัวจมอยู่ใต้น้ำที่กลายเป็นภักษาของปลา และเต่า)

จากนั้นพุทธกิจในการประกาศธรรมก็เริ่มต้น โดยทรงพิจารณาว่าจะทรงแสดงธรรมแก่ใครเป็นปฐม แล้วก็เสด็จไปยังอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงแสดงปฐมเทศนา คือเทศน์ครั้งแรก ที่มีชื่อว่า ธัมมจักกัปวัตตนสูตร เรียกกันง่ายๆ ว่า พระธรรมจักร แก่พระเบญจวัคคีย์

ในการเทศน์ครั้งแรกนั้น ทรงเริ่มด้วยการให้พระเบญจวัคคีย์รู้จักแยกวิถีใหม่ของพระพุทธศาสนา เรียกว่าทางสายกลาง คือมัชฌิมาปฏิปทา ออกจากวิถีสุดโต่ง ๒ ฝ่ายที่แพร่หลายอยู่และพระเบญจวัคคีย์ก็ได้คุ้นมากับตัวแล้วในเวลานั้น คือ การหมกมุ่นสยบอยู่ในกามสุข (กามสุขัลลิกานุโยค) กับการทรมานบีบคั้นตัวเองให้ยากลําบาก (อัตตกิลมถานุโยค) เมื่อทําความเข้าใจเบื้องต้นพอให้มองเห็นวิถีมัชฌิมาอย่างใหม่แล้ว ก็ทรงแสดงเนื้อตัวของพุทธธรรม คืออริยสัจ ๔


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง