| |
การทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร  |   |  

เมื่อมองในแง่ของการศึกษา หรือความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม การที่มิตรทำกิจต่างๆ ร่วมกัน และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นับว่าเป็นเพียงส่วนประกอบภายนอก สิ่งที่นับว่าสำคัญก็คือ ความมีอิทธิพลชักจูงกันในด้านความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยม ความรู้ความเข้าใจต่างๆ ที่ท่านเรียกรวมว่า ทิฏฐิ

ถ้าเป็นความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยม ความรู้ความเข้าใจ ที่ไม่ถูกต้อง มีโทษ ก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ถ้าเป็นฝ่ายที่ดีงาม ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ก็เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

มิตรใด มีอิทธิพลชักจูงให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ก็เป็นมิตรไม่ดี เรียกว่า ปาปมิตร มิตรใด ชักนำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ก็เป็นมิตรดี มิตรแท้ เรียกว่า กัลยาณมิตร

มีบ่อยๆ ที่มิตรชนิดในเรือน คือมารดาบิดา หรือแม้แต่ครูอาจารย์ มีอิทธิพลชักนำทิฏฐินี้ น้อยกว่ามิตรชนิดเพื่อนที่คบหาเที่ยวเล่นชุมนุมด้วยกัน แต่บางครั้งปรากฏว่า แม้แต่มิตรชนิดชิดใกล้นั้น กลับมีอิทธิพลน้อยไปกว่ามิตร ชนิดตัวอยู่ไกล ไม่ว่าโดยเทศะหรือกาละ แต่มีพลังแรงเข้าถึงใจ ได้แก่ มิตรที่มาทางสื่อมวลชน มาทางสิ่งบันเทิงเริงรมย์ ตลอดจนหนังสือ รวมทั้งชีวประวัติวีรชน บุคคลสำคัญ อันเข้าหลักทิฏฐานุคติ ที่ท่านเน้น

ตัวเชื่อมที่ทำให้มิตรนั้นเข้ามามีอิทธิพลชักจูงได้ หรือปัจจัยเครื่องเชื่อมต่อระหว่างมิตร กับอิทธิพลที่เกิดขึ้นในใจ ก็ได้แก่ ความเชื่อ ความเลื่อมใส ความนิยมชมชอบ ความซาบซึ้งใจ ที่เรียกว่าศรัทธา

เมื่อมีศรัทธาแล้ว หรือทำให้เกิดศรัทธาได้แล้ว ถึงตัวมิตรจะอยู่ไกล ไม่ได้คลุกคลี ก็มีอิทธิพลได้ ถึงตัวมิตรจะอยู่ใกล้ แต่ถ้าไม่ศรัทธา ก็หามีอิทธิพลชักจูงได้ไม่ ดังนั้น ท่านจึงถือเป็นหลักการว่า ผู้ซึ่งจะทำหน้าที่ชักนำสั่งสอนผู้อื่นให้มีความรู้ความเข้าใจ ความคิดเห็น เป็นต้น อันถูกต้อง ควรจะต้องยังศรัทธาให้เกิดแก่ผู้รับฟังคำสอนนั้นได้ พูดง่ายๆ ว่า หลักการเบื้องต้นข้อหนึ่งในทางการศึกษา คือ กัลยาณมิตรเป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธา หรือจะพูดขยายออกไปอีกก็ได้ว่า การคบหาบัณฑิต หรือเสวนาสัตบุรุษ เป็นปัจจัยแห่งศรัทธา

ผู้ใด แม้จะเป็นคนดีมีปัญญา แต่เมื่อยังไม่อาจให้เขาเกิดศรัทธาได้ ก็ยังไม่ได้ฐานะเป็นกัลยาณมิตร และการเสวนาหรือการคบหาก็ยังไม่เกิด เมื่อศรัทธาแล้ว ใจรับ ก็นำความคิดได้ นำพฤติกรรมได้ อาจให้เกิดการเลียนแบบ หรือชักจูงให้รู้จักคิดอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งต่อไป ข้อตัดสินว่า ทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้สำเร็จ คือ ทำให้ผู้เสวนาเกิดมีสัมมาทิฏฐิ


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |