ไปยังหน้า : |
ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า อธิจิตตสิกขา คือการฝึกปรือเพื่อเสริมสร้างคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ดังนั้น สมาธิ ซึ่งเป็นเป้าหมายของอธิจิตตสิกขานั้น จึงหมายถึง ภาวะจิตที่มีคุณภาพและมีสมรรถภาพดีที่สุด
จิตที่เป็นสมาธิ หรือมีคุณภาพดี มีสมรรถภาพสูงนั้น มีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
๑. แข็งแรง มีพลังมาก ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียว ย่อมมีกำลังแรงกว่าน้ำที่ถูกปล่อยให้ไหลพร่ากระจายออกไป
๒. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนสระ หรือบึงน้ำใหญ่ ที่มีน้ำนิ่ง ไม่มีลมพัดต้อง ไม่มีสิ่งรบกวนให้กระเพื่อมไม่พลิ้ว ไม่สั่นไหว
๓. ใส กระจ่าง มองเห็นอะไรๆ ได้ชัด เหมือนน้ำสงบนิ่ง ไม่เป็นริ้วคลื่น และฝุ่นละอองที่มี ก็ตกตะกอนนอนก้นหมด
๔. นุ่มนวล แคล่วคล่อง ควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่น ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย
ไวพจน์ที่แสดงความหมายของสมาธิคำหนึ่ง คือ เอกัคคตา แปลกันว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว แต่ถ้าว่าตามรูปศัพท์ จะเห็นลักษณะของจิตที่คล้ายกับในข้อแรก คือ เอกัคคตา = เอก + อัคค + ตา (ภาวะ)
คำว่า อัคคะ ที่นี่ ท่านแปลว่าอารมณ์ แต่ความหมายเดิมแท้ คือ จุดยอด หรือจุดปลาย โดยนัยนี้ จิตเป็นสมาธิ ก็คือ จิตที่มียอด หรือมีจุดปลายจุดเดียว ซึ่งย่อมมีลักษณะแหลมพุ่ง รวมมุ่งดิ่งไป หรือแทงทะลุไปได้ง่าย
จิตที่เป็นสมาธิขั้นสมบูรณ์ เฉพาะอย่างยิ่ง สมาธิถึงขั้นฌาน พระอรรถกถาจารย์เรียกว่า จิตพร้อมด้วยองค์ ๘ (อัฏฐังคสมันนาคตจิต) องค์ ๘ นั้น ท่านนับจากคำบรรยายที่เป็นพุทธพจน์นั่นเอง กล่าวคือ 1583
๑. ตั้งมั่น ๒. บริสุทธิ์
๓. ผ่องใส ๔. โปร่งโล่ง เกลี้ยงเกลา
๕. ปราศจากสิ่งมัวหมอง ๖. นุ่มนวล
๗. ควรแก่งาน ๘. อยู่ตัว ไม่วอกแวกหวั่นไหว
ท่านว่า จิตที่มีองค์ประกอบเช่นนี้ เหมาะแก่การนำเอาไปใช้ได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเอาไปใช้งานทางปัญญาพิจารณา ให้เกิดความรู้เข้าใจถูกต้องแจ้งชัด หรือใช้ในทางสร้างพลังจิต ให้เกิดอภิญญาสมาบัติอย่างใดๆ ก็ได้