ไปยังหน้า : |
ดังได้กล่าวแล้วว่า ความมุ่งหมายของสัมมาสมาธิ ก็เพื่อให้เป็นสนามปฏิบัติการของปัญญา หรือพูดให้กว้างว่า เพื่อทำให้จิตเป็นสถานที่เหมาะสมดีที่สุด ที่องค์ธรรมทั้งหลายจะมาทำงานร่วมกันให้บรรลุวัตถุประสงค์ คือการรู้แจ้งสัจธรรม กำจัดกิเลส ถึงภาวะดับปัญหาไร้ทุกข์ และก็ได้กล่าวแล้วเช่นเดียวกันว่า องค์มรรคทั้ง ๘ ประการทำงานประสานสอดคล้องส่งเสริมกัน โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้านำทางไป
จึงเป็นอันได้ความในตอนนี้ว่า องค์มรรคอื่นทั้ง ๗ ข้อ เป็นเครื่องเกื้อหนุนให้กำลังแก่สมาธิ ช่วยให้สมาธิเกิดขึ้นได้ ดำรงอยู่ได้ดี เป็นสัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ถูกต้อง ซึ่งจะใช้งานได้ผลตามต้องการ ส่งผลคืบหน้าต่อไปอีกจนถึงจุดหมาย โดยช่วยให้เกิดองค์ธรรมเพิ่มขึ้นอีก ๒ อย่างในขั้นสุดท้าย เรียกว่า สัมมาญาณ(หยั่งรู้ชอบ) และสัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ)
เมื่อมองในแง่นี้ ท่านเรียกองค์มรรคอื่นทั้ง ๗ ข้อ ว่าเป็น “สมาธิบริขาร” แปลว่า บริขารของสมาธิ หมายความว่า เป็นเครื่องประกอบ เครื่องแวดล้อม เครื่องหนุนเสริม หรือเครื่องปรุงของสมาธิ
สมาธิที่ประกอบด้วยบริขารนี้แล้ว เรียกว่า เป็นอริยสัมมาสมาธิ นำไปสู่จุดหมายได้ ดังบาลีว่า
“สมาธิบริขาร ๗ ประการเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ทรงจัดวางไว้เป็นอย่างดีแล้ว เพื่ออบรมบ่มสัมมาสมาธิ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสัมมาสมาธิ, เจ็ดประการไหน? ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ;
“เอกัคคตาแห่งจิต ที่แวดล้อมด้วยองค์ ๗ เหล่านี้ เรียกว่า สัมมาสมาธิที่เป็นอริยะ ซึ่งมีอุปนิสัย (มีที่อิงที่ยันที่รองรับ) บ้าง มีบริขาร (มีเครื่องประกอบหรือเครื่องช่วยหนุน) บ้าง”
“เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอแก่การ, เมื่อมี