| |
บุคคลเอื้ออารี สังคมสามัคคี ทุกคนได้ ทุกคนดี มีสุขด้วยกันและทั่วกัน  |   |  

เรื่องของพระนั้น นอกจากเน้นเรื่องการแบ่งปันลาภแล้ว ในหลักใหญ่ กว้างออกไป ก็เน้นเรื่องความสามัคคี ถือเรื่องสามัคคีนี้สำคัญมาก ตรงข้ามกับสังฆเภท คือการทำให้สงฆ์แตกกัน ซึ่งถือเป็นอนันตริยกรรม อันจัดเป็นบาปหนักที่สุด เพราะท่านถือความสามัคคีของหมู่ชนเป็นเรื่องสำคัญอันดับ ๑

ถึงแม้ในสังคมคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงเน้นให้เห็นความสำคัญของการทำชุมชนและสังคมให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงมีเอกภาพ ด้วยหลักสังคหวัตถุ ๔ นี้

ดังที่ว่า ในบรรดาพระสาวกฝ่ายคฤหัสถ์ที่ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ก็มี ๒ ท่านที่เป็นคล้ายอัครสาวก แต่ไม่เรียกว่าอัครสาวก เรียกได้ว่าเป็นอัครอุบาสก คือเป็นอุบาสกเยี่ยมยอดคู่กัน ได้แก่ จิตตคฤหบดี ผู้เป็นเลิศทางธรรมกถึก และอีกท่านหนึ่ง คือ หัตถกาฬวก (เรียกรวมคำให้สะดวกลิ้นไทย ที่จริงคือ หัตถกะอาฬวกะ)

หัตถกาฬวกนี้ เป็นเอตทัคคะในทางรวมใจหมู่ชน หมายความว่าเก่งในการสร้างความสามัคคี สร้างความเป็นปึกแผ่นของสังคม ด้วยหลักสังคหวัตถุ ๔ คือ เป็นผู้นำที่สามารถใช้สังคหวัตถุ ๔ ประการ ทำให้หมู่ชนของท่านอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี แน่นแฟ้นมั่นคง พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นตราชูของอุบาสกบริษัท

(ตราชูของอุบาสิกาบริษัท หรืออัครอุบาสิกา ก็มีคู่หนึ่งเหมือนกัน ได้แก่ ขุชชุตรา ซึ่งเป็นเอตทัคคะทางพหูสูต และนันทมารดา ซึ่งเก่งทางฌาน)

ที่นำเรื่องแบบนี้มาเน้นไว้ก็เพราะว่า ดูเหมือนชาวพุทธไทยเรานี้จะมองพุทธศาสนาในเชิงที่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลไปเสียแทบหมด ไม่ได้สังเกตว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ถือเรื่องส่วนรวม เรื่องของชุมชน เรื่องของสังคม เป็นสำคัญเพียงใด จะต้องเข้าใจดุลยภาพในเรื่องนี้กันไว้ให้มากสักหน่อย

พูดผ่านๆ ว่า ในหมู่สงฆ์ท่านเน้นความสามัคคี แล้วในสังคมคฤหัสถ์ท่านเน้นสังคหวัตถุ ก็มีจุดรวมที่สามัคคีเหมือนกัน แต่ของพระพูดเป็นกลางๆ แค่นามธรรมได้ ส่วนของชาวบ้านต้องโยงไปรูปธรรมให้ถึงวัตถุด้วย

เรื่องหมู่ชน ชุมชน สังคมนี้ พระพุทธศาสนาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่านึกอยู่แค่เรื่องเฉพาะตัว

ที่ว่าเฉพาะตัว ก็หมายความว่า มันเป็นเรื่องของธรรมชาติอย่างนั้น ชีวิตของเราจะพัฒนาได้ ก็ต้องเป็นไปโดยกระบวนการภายในตามธรรมชาติของมัน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |