| |
สำนวนแบบสืบค้น  |   |  

• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่หนอ เพราะอาศัยอะไร จึงเกิดสุขทุกข์ขึ้นภายใน?...เมื่อรูปมีอยู่ เพราะอาศัยรูป จึงเกิดสุขทุกข์ขึ้นภายใน; เมื่อเวทนา..สัญญา...สังขาร...วิญญาณ มีอยู่ เพราะอาศัยเวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ จึงเกิดสุขทุกข์ขึ้นภายใน

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย เข้าใจอย่างไร: รูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เที่ยงหรือไม่เที่ยง?” (ไม่เที่ยง...) “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นภาวะบีบคั้น หรือคล่องสบาย?” (เป็นภาวะบีบคั้น...) “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นภาวะบีบคั้น มีความปรวนแปรไปได้เป็นธรรมดา, ไม่อาศัยสิ่งนั้น จะพึงเกิดสุขทุกข์ขึ้นภายในได้หรือ?” (ไม่ได้เลย...); เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ” 968

สำนวนแบบนี้ ยังมีข้อความยักเยื้องออกไปอีกหลายอย่าง ซึ่งแสดงว่า ความยึดถืออัตตา สักกายทิฏฐิและมิจฉาทิฏฐิต่างๆ หลายอย่าง เกิดขึ้นเพราะความถือมั่นเห็นผิดในขันธ์ ๕ อย่างนี้ 969

• “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม เราแสดงไว้แล้วโดยวิจัย คือ แสดงสติปัฏฐาน ๔...สัมมัปปธาน ๔...อิทธิบาท ๔...อินทรีย์ ๕...พละ ๕...โพชฌงค์ ๗...มรรคมีองค์ ๘ โดยวิจัย...แต่กระนั้นก็ยังมีภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นว่า เมื่อรู้อย่างไร เห็นอย่างไรหนอ อาสวะจึงจะมีแต่สิ้นไปเรื่อยๆ;...

“ปุถุชน ผู้มิได้รับการศึกษา (อวินีต)...ย่อมเห็นคล้อยรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ โดยความเป็นอัตตา, การเห็นคล้อยไปดังนี้ เป็นสังขาร; ก็สังขารนั้นมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย เกิดจากอะไร มีแหล่งอะไร?

“สังขารนั้นเกิดจากตัณหา ที่เกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ (อัสสุตะ) ซึ่งถูกเวทนาอันเนื่องมาแต่อวิชชาสัมผัส (การรับรู้ด้วยอวิชชา) กระทบเอา; โดยนัยนี้แล แม้สังขารนั้นก็จึงเป็นของไม่เที่ยง เป็นของปรุงแต่ง (สังขตะ) อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบัน), แม้ตัณหานั้น...เวทนานั้น...ผัสสะ (การรับรู้) นั้น...อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง เป็นของปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น, เมื่อรู้ เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้แล อาสวะก็จะมีแต่ความสิ้นไปเรื่อยๆ” 970

• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีสติ (คือปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔) มีสัมปชัญญะ (คือสร้างสัมปชัญญะ ในการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด เป็นต้น) ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ ถ้าเกิดเวทนาที่เป็นสุขขึ้น เธอก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เวทนาที่เป็นสุขนี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ก็แล เวทนานั้นอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น มิใช่ไม่อาศัยอะไรเลย, อาศัยอะไร ก็อาศัยกายนี้เอง, ก็กายนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น, แล้วสุขเวทนา ซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยกายที่ไม่เที่ยง เป็นของปรุงแต่ง เป็นปฏิจจสมุปบันธรรมอยู่แล้ว จักเป็นของเที่ยงได้แต่ที่ไหน; เธอมองเห็นความเป็นสิ่งไม่เที่ยง ความเสื่อมสิ้นไป ความจางหาย ความดับ ความสลัดออกไป ทั้งในกาย และในสุขเวทนาอยู่, เมื่อเธอมองเห็น...(อย่างนี้) ราคานุสัยที่มีในกาย และในสุขเวทนา ก็จะถูกละเสียได้


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |